ลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์ต้องดูอะไรบ้าง ตอนที่ 2

ในสัปดาห์ที่แล้วเราพูดถึงประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจหากต้องการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) ซึ่งจะประกอบไปด้วยสองส่วนได้แก่ (1) เงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน และอัตราการมีส่วนร่วม (Participation Rate) และ (2) ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของด้านสภาพคล่อง (Liquidity) ด้านราคาสินทรัพย์หรือตลาด (Market) และด้านการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ซึ่งนักลงทุนจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจให้ดี

เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์นั้นมีความซับซ้อนและทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายและแตกต่างกันไปตามแต่ละโครงสร้างและผู้นำเสนอ โดยประเด็นด้านความเสี่ยงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด้านผลตอบแทน รวมถึงในบางกรณีอาจทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดได้ง่ายๆ วันนี้เราจะมาสำรวจในส่วนนี้กันต่อไปครับ

ในเบื้องต้นการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์อาจจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ (1) กลุ่มที่คุ้มครองเงินต้น(Principal Protected) และ (2) กลุ่มที่ไม่คุ้มครองเงินต้น ซึ่งแน่นอนว่าผลตอบแทนก็จะแตกต่างกันเนื่องจากระดับความเสี่ยงจากการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกอาจจะมีลักษณะการจ่ายผมตอบแทนที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ และกลุ่มที่สองจะมีการจ่ายผลตอบแทนที่หวือหวากว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่มากกว่า

กลุ่มแรก … กลุ่มคุ้มครองเงินต้น การลงทุนในกลุ่มนี้ในกรณีส่วนใหญ่นักลงทุนจะไม่ได้รับผลขาดทุนหากสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying) เช่น ดัชนีหุ้น ทองคำ หรือค่าเงินบาท นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่คาดไว้ ยกตัวอย่างเช่น หากหุ้นกู้อนุพันธ์จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนก็จะไม่ขาดทุนหากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมากกว่าระดับดัชนีที่ตกลงกันไว้

อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ไม่ได้แปลว่านักลงทุนจะไม่มีโอกาสขาดทุนเลย โดยคำว่าคุ้มครองเงินต้นส่วนใหญ่จะหมายถึงคุ้มครองในกรณีที่ดัชนีอ้างอิงไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่คาดไว้ แต่นักลงทุนยังอาจจะขาดทุนได้จากการผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ผู้ออกคือสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร นักลงทุนก็มีโอกาสไม่ได้รับเงินลงทุนคืน หากธนาคารหรือผู้ออกประสบปัญหาทางการเงิน เป็นต้น ดังนั้นผู้ออกตราสารก็จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะสะท้อนจากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของผู้ออก

ในขณะที่หากอยู่ในรูปของกองทุน ซึ่งมาในรูปของนิติบุคคลที่ผปู้ถือหน่วยเป็นเจ้าของร่วมกัน โครงสร้างส่วนใหญ่ก็จะเป็นการไปลงทุนในพันธบัตร โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชน และนำดอกเบี้ยที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตมาเป็นส่วนคุ้มครองเงินต้น และนำเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในออปชั่นเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม ดังนั้นความเสี่ยงของกองทุนเหล่านี้ก็จะอยู่ที่หุ้นกู้เอกชนที่ลงทุน

หากมีการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะทำให้กองทุนขาดทุนได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนลงทุนก็อาจจะต้องพิจารณาองค์ประกอบในส่วนนี้ว่ากองทุนนั้นจะไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในกลุ่มใด มีความน่าเชื่อถือระดับใด และอยู่ในอุตสาหกรรมใดเป็นหลัก โดยสรุปจะเห็นได้ว่าแม้ส่วนใหญ่จะเป็นตราสารที่ระบุว่าคุ้มครองเงินต้น แต่ก็ไม่ได้คุ้มครองความเสี่ยงทั้งหมด แม้ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้อาจจะไม่มากนัก แต่ก็นับว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและพิจารณาให้ดีก่อนลงทุน

กลุ่มถัดไป คือ กลุ่มที่ไม่คุ้มครองเงินต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเสนอผลตอบแทนที่น่าสนใจ และสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งในกลุ่มนี้ก็ตีความตรงไปตรงมา คือ การลงทุนที่นักลงทุนสามารถขาดทุนได้หากการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์อ้างอิงไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่คาดไว้ นั่นก็คือนักลงทุนมีความเสี่ยงด้านราคา หรือ ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) ของสินทรัพย์นั่นเอง

ดังนั้นในกลุ่มนี้ก็ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนในกรณีต่างๆ ผลตอบแทนสูงสุดที่เป็นไปได้ รวมถึงรูปแบบการจ่ายคืนที่อาจจะอยู่ในรูปของเงินสดหรือหุ้นได้นั้นเอง ดังเช่นที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ถึงโครงสร้างของตราสาร แต่เราต้องเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนในกรณีต่างๆ ให้ละเอียดและตัดสินใจให้รอบคอบก่อนลงทุน

ข้อดีของการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ที่หาไม่ได้ในการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม (Traditional Assets) เช่น บอนด์ หรือ หุ้น คือความสามารถในการจ่ายผลตอบแทนได้หลากหลายรูปแบบตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนได้ รวมถึงการจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุน ทำให้หุ้นกู้อนุพันธ์สามารถใช้ได้ทั้งในเรื่องของการเก็งกำไร (Speculative Position) หรือ การใช้ป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุน (Hedging Position) และใช้ได้ในตลาดหลากหลายรูปแบบทั้งตลาดขาขึ้น ขาลง หรือแม้แต่ตลาดที่เคลื่อนไหวในกรอบ แต่ก็จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของแต่ละรูปแบบให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงความเสี่ยงที่จะมาในรูปแบบต่างๆ ด้วย

จุดแต่ต้องทำความเข้าใจในหุ้นกู้อนุพันธ์แต่ละแบบนั้นแตกต่างกัน รวมถึงรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนและระดับความเสี่ยง ทำให้ไม่มีตำราตายตัวเพื่อบอกว่าดีหรือไม่ดี คุ้มหรือไม่คุ้ม เหมาะหรือไม่เหมาะ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบุคคลจากปัจจัยสำคัญๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนับตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ทางเลือกของการลงทุนนั้นเพิ่มโอกาสและประสิทธิภาพให้กับการบริหารพอร์ตฟอลิโออยู่เสมอ แต่นักลงทุนก็จำเป็นจะต้องเลือกสรรให้เหมาะกับแนวทางของตนเองด้วย ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงทำให้จำเป็นจะต้องศึกษาข้อมูลให้ดีและละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนอยู่เสมอ ... และหวังว่าการลงทุนของทุกท่านจะเติบโตตามที่ตั้งใจครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด