“เอกนิติ” เคลื่อน “ทีทีบี” สู่ ‘การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย’

“เอกนิติ” เคลื่อน “ทีทีบี” สู่ ‘การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย’

“เอกนิติ”แม่ทัพใหญ่ ทีทีบี หนุนแบงก์สู่ “การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย” หวังลดช่องว่างทางการเงิน หนุนคนไทยเข้าถึงการเงินเพิ่ม แก้ปัญหาทางการเงินทั้งระบบ เปิดโฟกัส 3 ปี โดยเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการเป็น The Bank of Financial Well-being เพื่อคนไทยทั้งประเทศ

         “เอกนิติ” เคลื่อน “ทีทีบี” สู่ ‘การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย’         “ข้างหน้าอุตสาหกรรมธนาคารจะเจอความท้าทาย จากการแข่งขันที่สูงมาก ดังนั้นสิ่งที่เราอยากทำคือ เราต้อง Make REAL Change สร้างความแตกต่าง เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ เราไม่ได้ต้องการเป็นธนาคารที่มีกำไรโตมโหฬารแต่ช่วยใครไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะแตกต่างได้คือ  ทีทีบี เราต้องช่วยคนไทย ช่วยธุรกิจไทย จากสิ่งที่ธนาคารชำนาญ”

         นี่คือคำกล่าวของ “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส” ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ที่เล่าถึง “พันธกิจ” ของธนาคารในช่วง 3 ปี (2566-2568)

“เอกนิติ” เคลื่อน “ทีทีบี” สู่ ‘การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย’

ดร.เอกนิติ” ฉายภาพให้เห็นถึง ความท้าทาย และภารกิจของทีทีบี ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันว่า ก่อนที่โควิด-19 จะเกิดขึ้น เป็นช่วงของการเริ่มต้น ของการเดินหน้ารวมกิจการระหว่าง “ทีเอ็มบีและธนชาต” ที่เป็นความท้าทาย สำหรับ “ทีทีบี” มากกว่าธนาคารอื่น ๆ ทั้งโจทย์ของการรวมกิจการ จากธนาคารที่แตกต่างกัน จนมาเจอกับวิกฤติโควิด-19 

       มาถึงปัจจุบันที่การรวมกิจการ “สำเร็จ” ซึ่งเป็นจุดสำคัญทำให้ธนาคาร “ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี” วันนี้แข็งแกร่ง และมีทุนที่เข้มแข็งมากขึ้น และสามารถช่วยสร้าง Financial Well-being เพื่อให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

        หากมองไปข้างหน้าภาคธุรกิจธนาคารยังเจอความท้าทายอีกมาก ทั้งระยะสั้น และระยะกลาง ทั้งจากรอยแผลที่เกิดจากโควิด-19 ที่กระทบต่อผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมาก ที่ทำให้ธนาคารได้รับผลกระทบจากรอยแผลนี้ รวมถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่กำลังเกิดขึ้น

     ซึ่ง “ธนาคาร” ก็เหมือนน้ำมันหล่อลื่น ที่เราจะเติมน้ำมันหล่อลื่นอย่างไร เพื่อช่วยคนที่ถูกรอยแผลจากโควิด-19 ให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งได้ 

       จากวิกฤติโควิด-19 สิ่งแรกที่ธนาคารทำคือการช่วยลูกค้า ภายใต้โครงการต่าง ๆ ทำให้สามารถช่วยลูกค้าผ่านโครงการพักหนี้ได้ถึง 7.5 แสนราย ในปี 2563 ที่ผ่านมา 

       และด้วยกลยุทธ์ของธนาคาร ที่เลือกที่จะเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ และช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร ทำให้หนี้เสียที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกือบ 3% ลดลงมาเหลือ 2.73% ในปัจจุบัน สำหรับด้านความแข็งแกร่งของเงินกองทุนวันนี้ถือว่าแข็งแกร่งมาก ทีทีบี มีความพอเพียงของเงินกองทุนรวมสูงถึง 20% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 12.0%

  “เอกนิติ” เคลื่อน “ทีทีบี” สู่ ‘การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย’

      “เหล่านี้คือผลของการ “รวมกิจการ” ที่ประสบความสำเร็จของทีทีบี ทำให้ธนาคารสามารถนำจุดแข็งมาช่วยเหลือลูกค้าและยังช่วยลดต้นทุนให้กับธนาคารได้มากอีกด้วย ส่งผลให้สิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้น 36% มาสู่ 1.42 หมื่นล้านบาท จากระดับหมื่นล้านบาท เหล่านี้คือผลของการ “รวมกิจการ” ที่เป็นจุดแข็ง และเป็นจุดที่ทำให้ธนาคารวันนี้เข้มแข็งมากขึ้น”

       แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้ต้นทุนจากเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ล้วนมีผลกระทบต่อคนมีรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในปี 2566 คือ  “การเป็นธนาคารที่สร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ”

       ​เป้าหมายสำคัญของ “ทีทีบี” คือ ต้องการเป็น The Bank of Financial Well-being เพื่อคนไทยทั้งประเทศ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วง 3 ปีหลังจากนี้  (2566-2568)

       ​“ภารกิจ” หลักของธนาคารที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องการ“ช่วยคน” เพราะธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ “ทีทีบี”

​      ในด้านการดำเนินธุรกิจ ธนาคารตระหนักดีว่า “ทีทีบี” ไม่ได้เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุด ที่จะสามารถทำทุกอย่างได้ ดังนั้นเราต้องเลือกทำในสิ่งที่ธนาคารเก่ง นั้นคือ 3 โฟกัสหลักของธนาคาร ในช่วง 3 ปีนี้

      ​โฟกัสแรก ทีทีบี เก่งด้านสินเชื่อรถยนต์ ที่วันนี้ “ทีทีบี” ถือเป็นอันดับหนึ่งในตลาด โฟกัสถัดมาคือ สินเชื่อบ้าน ที่ธนาคารทำได้ดี และโฟกัสสุดท้ายที่มนุษย์เงินเดือน  ดังนั้นธนาคารจะเน้นการสร้าง “Ecosystem Play” ให้เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจรมากขึ้น

        ไม่เฉพาะการทำสินเชื่อรถยนต์ แต่ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับรถยนต์ และบ้าน ไม่ว่าจะขายรถ เปลี่ยนรถ ทำประกันรถ หรือเกี่ยวกับบ้าน ต้องมาที่ “ทีทีบี” ที่เดียวต้องจบ! 

      ​“โฟกัสหลักของเรา คือ เน้นทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถ บ้าน และมนุษย์เงินเดือน วันนี้เรามีฐานลูกค้ามนุษย์เงินเดือนกับทีทีบี ราว 1 ล้านคน แต่บางส่วนก็ใช้เราเป็นแค่ทางผ่าน ฉะนั้นเราต้องทำให้ธนาคารตอบโจทย์ Ecosystem Play มากขึ้น”

      ​อีกรากฐานที่สำคัญของ Ecosystem Play คือการแก้ไขปัญหาทางการเงิน เพื่อช่วยให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น คือ เรื่อง “รวบหนี้” เพื่อช่วยลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้มีภาระทางการเงินที่ลดลง  

      ​สุดท้ายแล้ว การโฟกัสใน 3 ด้านหลัก ทั้ง คนมีรถ คนมีบ้าน และมนุษย์เงินเดือน ธนาคารตั้งเป้าว่า ในช่วง 3 ปี จำนวนการใช้โปรดักส์ (Product Holding) ในกลุ่มลูกค้า EcosystemPlay ต้องเติบโตขึ้น 2 เท่า หรือ 200% หากเทียบกับการใช้โปรดักส์วันนี้ 

      ​นอกจากนี้ อีกจุดมุ่งหมายที่สำคัญของ “ทีทีบี” คือ ต้องทำให้ Non-Financial Services มาอยู่บนดิจิทัลให้มากกว่า 80% จากการทำธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร ภายใน 3 ปี  

       เพราะการไปสู่ดิจิทัลจะเป็น “กลไก” สำคัญที่ทำให้ต้นทุนของธนาคารปรับลดลงได้ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ผ่านค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ของธนาคารที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา เหลือ 45% จากระดับ 48% และตั้งเป้าให้ลดลงต่ำกว่าระดับ 40% ในช่วง 3 ปีนี้ 

       “ในช่วง 3 ปีนี้ มีสิ่งที่ต้องโฟกัสมากขึ้น คือ 1.Cost Synergy การลดต้นทุน จากประโยชน์ของการ Integrate ที่ต้องทำต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้นทุนต้องต่ำกว่า 40% ใน 3 ปี 2.Revenue  Synergy Realization เพราะตอนนี้เป็นโอกาสในการเติบโตแล้ว และ 3. Balance Sheet Synergy ที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว ถึงทำให้คุณภาพสินทรัพย์เราดีขึ้นเรื่อย ๆ”

        นอกจากการมุ่งสู่ Digital First เพื่อลดต้นทุนของธนาคาร อีกด้านที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร คือการเปลี่ยนองค์กรให้ Agile มากขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัว 

      ​สุดท้ายแล้ว “ดร.เอกนิติ” เชื่อว่า “การทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น” เป็นเป้าหมายสูงสุดของธนาคาร เป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคาร “แตกต่าง” จากธนาคารอื่น ๆ ได้ และ “ชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย” ในนิยามของเขานั่นคือ การทำให้คนไทยมีโอกาสทางการเงินที่มากขึ้น แทนการพึ่งพาหนี้นอกระบบ การเข้าไปแก้ปัญหาทางการเงิน หรือ การทำให้คนไทยเข้าถึงการเงินด้วยต้นทุนที่ต่ำ เหล่านี้ล้วนเป็น “พันธกิจ” ที่ “ทีทีบี” ตั้งมั่น ให้สำเร็จได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้