3 เรื่องที่ต้องติดตาม ส่งท้ายปี 2022

3 เรื่องที่ต้องติดตาม ส่งท้ายปี 2022

ในตอนนี้เราก็ได้เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายของปี 2022 กันแล้ว เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่เจอกับความท้าทายไม่มากก็น้อย เพราะ ทั้งตลาดหุ้น ตราสารหนี้ ค่าเงิน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ล้วนผันผวนอย่างหนักตลอดทั้งปี

โดยมี 3 ประเด็นหลักๆ ที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งนักลงทุนจะต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินกลยุทธ์การลงทุนต่อไป

เรื่องแรกคงหนีไม่พ้น ทิศทางขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่ในการประชุมครั้งล่าสุดได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่สี่ติดต่อกัน และตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 0.5% และจะขึ้นต่อเนื่องอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากนั้นจะคงดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพ.ค. 2023

สิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อการทิศทางการดอกเบี้ยของ FED จะเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นอกจากตัวเลขเงินเฟ้อที่จะต้องชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากราคาสินค้าที่ปรับลงมาบ้าง แต่ราคาบริการยังทรงตัวในระดับสูง โดยเงินเฟ้อนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ (1) ตลาดแรงงานที่ปัจจุบันยังคงร้อนแรง

ดังนั้นเราอาจจะต้องเห็นอัตราว่างงานปรับเพิ่มขึ้นก่อน จึงจะส่งผลให้ราคาบริการปรับลงตาม ซึ่งจะฉุดเงินเฟ้อให้ลงมาในระดับใกล้เคียงเป้าหมายของ FED ได้ (2) ตลาดบ้าน ซึ่งในตอนนี้เราเริ่มเห็นตลาดบ้านที่เริ่มอ่อนแรง หลังดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งสูงขึ้น และราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้น ถ้าหากตลาดบ้านชะลอตัวลง ก็จะส่งผลให้ค่าเช่าปรับตัวลงด้วย

 

ประเด็นถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือในฝั่งของประเทศจีน ที่ช่วงปลายเดือนตุลาคมเราได้ทราบผลการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำกรมการเมือง หรือ Politburo Standing Committee ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง 4 ตำแหน่งจาก 7 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งใหม่ทั้งหมดล้วนเป็นคนสนิทของปธน.สี จิ้น ผิง

สะท้อนถึงการรวบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นการดำเนินนโยบายมีแนวโน้มเป็นไปตามแนวทางของปธน.สี จิ้น ผิง คือ เน้นเรื่องความมั่นคงของชาติ การพึ่งพาตนเอง ตลอดจนการกระจายรายได้ หรือ Common prosperity ซึ่งตลาดไม่ได้ตอบรับเชิงบวกมากนัก

และสิ่งที่ทำให้ตลาดกังวลไม่น้อยคือ การเปิดประเทศที่ยังไม่มีกำหนดแน่นอน แต่คาดว่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือตัวเต็งนายกฯ คนใหม่ คือนายหลี่ เฉียง ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งล็อคดาวน์เซียงไฮ้ถึง 2 เดือนในไตรมาส 2 ทำให้ดัชนี HSCEI ซึ่งประกอบด้วยบริษัทจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกงปรับตัวลงกว่า 7% ในวันเดียวหลังทราบผลประชุม และปรับลงถึง 35% ตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ย.)

นับเป็นตลาดหุ้นที่ดิ่งลงหนักที่สุดในโลก สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปในการประชุมสภาประชาชนจีนที่จะเกิดขึ้นเดือนมีนาคม คือ (1) แนวทางการเปิดประเทศที่จะมีแนวโน้มชัดเจนขึ้นในปี 2023 และ (2) นโยบายการตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะไม่ได้มีขนาดใหญ่เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในอัตราสูงเช่นในอดีต แต่จะเป็นมาตรการพยุงเศรษฐกิจ เพื่อให้จีนเติบโตได้แบบมีเสถียรภาพ

เรื่องสุดท้ายที่เป็นความกังวลมาตั้งแต่ต้นปีที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ก็คือ วิกฤติพลังงานโดยเฉพาะในยุโรป ที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น โดยล่าสุดได้ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 10.7% YoY และทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยรวมแล้วทั้งสิ้น 2% ในการประชุมสามครั้งที่ผ่านมา เพื่อสกัดให้เงินเฟ้อลงมาสู่เป้าหมาย ทั้งๆที่เศรษฐกิจยุโรปไม่ได้แข็งแกร่งเท่าสหรัฐฯ

แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวลดลงบ้าง เนื่องจากปีนี้อากาศไม่หนาวมาก ด้านรัฐบาลประเทศสมาชิกก็ได้พยายามกักเก็บพลังงานสำรอง รวมถึงขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตลอดจนหันมาใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการออกมาตรการการคลังเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ภาคครัวเรือนด้วย ซึ่งจะช่วยให้ยุโรปหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงได้

ระหว่างที่ติดตามพัฒนาการของ 3 ประเด็นข้างต้น ที่จะมีผลต่อการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2023 ที่จะถึงนี้ แนะนำนักลงทุนจัดพอร์ตแบบระมัดระวังมากขึ้น ลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มสัดส่วนเงินสด รวมถึงกระจายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้ และอสังหาฯ นอกตลาด เพราะถือว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดีในยามตลาดผันผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้านเช่นนี้