“อาคม”หารือโต๊ะกลมผู้บริหารบริษัทข้ามชาติเน้นย้ำเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ

“อาคม”หารือโต๊ะกลมผู้บริหารบริษัทข้ามชาติเน้นย้ำเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ

“อาคม”หารือโต๊ะกลมผู้บริหารระดับสูงบริษัทข้ามชาติเน้นย้ำเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมขอธนาคารโลกเพิ่มโครงการความช่วยเหลือมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในห้วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2565 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Voting Group: SEAVG) ของธนาคารโลก 

และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลก 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประกอบด้วย ฟิจิ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา มาเลเซีย เนปาล สิงคโปร์ ตองกา เวียดนาม และไทย และมีผู้ว่าการธนาคารกลางในฐานะผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วม 13 ประเทศประกอบด้วย สมาชิก 11 ประเทศข้างต้น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา

ที่ประชุมได้รับฟังรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ผลการดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้คำแนะนำเชิงนโยบายและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ปัญหาเยาวชนที่ต้องออกจากระบบการศึกษา และปัญหาด้านหนี้สาธารณะ รวมถึงสนับสนุนการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวขอบคุณธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศสำหรับการสนับสนุนการพัฒนาของไทยและสมาชิก SEAVG อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะมีโครงการความช่วยเหลือจากธนาคารโลกมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

รวมถึงขอให้ธนาคารโลกช่วยสนับสนุนประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม SEAVG ในการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน การเตรียมพร้อมและการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับการแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนให้ลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยกตัวอย่างนโยบายของประเทศไทย ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ควบคู่ไปกับการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งเป็นกลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไป 

อนึ่ง ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการหารือโต๊ะกลมกับ ASIA HOUSE โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหารระดับสูงบริษัทข้ามชาติ อาทิ HSBC Prudential Arup Google Crown Agents AIG เป็นต้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยและแนวนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ตลอดจนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล โดยผู้บริหารบริษัทข้ามชาติที่ร่วมงานในครั้งนี้ได้แสดงความเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเห็นว่านโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินเพื่อความยั่งยืนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมทั้งจะเอื้อต่อการขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทยอีกด้วย