ก.ล.ต.เล็งดึง ‘โทเคนดิจิทัล’ มาอยู่ภายใต้การกำกับของ 'พ.ร.บ.หลักทรัพย์'

ก.ล.ต.เล็งดึง ‘โทเคนดิจิทัล’ มาอยู่ภายใต้การกำกับของ 'พ.ร.บ.หลักทรัพย์'

ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น “ศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล” ของอาเซียน จากการมีผู้ประกอบการในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีกลุ่มผู้ใช้งาน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. และมีการปรับเกณฑ์การกำกับดูแลให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจในทุกๆ ด้านอยู่เสมอ

ชลธิดา ภักดีไทย ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. กล่าวถึงโอกาสการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล(พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล)ในงาน BlockchainGenesis, Thailand Blockchain Week 2023 ว่า ก.ล.ต. กำลังจะมีการปรับกฎเกณฑ์ และรายละเอียดต่างๆ ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล และคาดว่าจะประกาศออกมาอีกครั้งเร็วๆ นี้ 

โดยการปรับเกณฑ์นั้นจะปรับในส่วนของ "โทเคนดิจิทัล” (Token Digital) ที่มีลักษณะและความเสี่ยงคล้ายคลึงกับ “หลักทรัพย์” นั้นก็ควรมาอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์) มากกว่าที่จะอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถ้าหากมีการย้ายไปอยู่ใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์แล้ว คงต้องดูว่าความยืดหยุ่น (Felxible) จะยังคงอยู่หรือไม่

ก.ล.ต.เล็งดึง ‘โทเคนดิจิทัล’ มาอยู่ภายใต้การกำกับของ \'พ.ร.บ.หลักทรัพย์\'

สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เหล่านี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดดั้งเดิม หรือTraditional Player เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)  ซึ่งมีฐานลูกค้าเดิมจำนวนมาก ได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น แต่ Traditional Player ก็มีความจำเป็นต้อง upgrade operating system หรือพัฒนาอีโคซิสเต็มให้ตอบรับกับเทรนด์ปัจจุบันเช่นกัน และหากต้องการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ควรพิจารณาทั้งกฎเกณฑ์ที่ถูกใช้ในปัจจุบัน (ongoing rule) และใบอนุญาตที่มีอยู่ (license) เพื่อเป็นไปตามความประสงค์ในการประกอบธุรกิจ

ในส่วนของการเข้ามาเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้เล่นตลาดดั้งเดิมเช่น Broker, Dealer ก็ต้องปรับวิธีการในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่คุ้นเคยอยู่กับผลิตภัณฑ์เดิมๆ ซึ่งการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้การกำกับดูแลของก.ล.ต.ซึ่งเป็นตัวแทนของภาครัฐเองควรเป็นไปอย่างเหมาะสมเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ยังคงมุ่งเน้นหลักการกำกับดูแลแบบSame Activities, Same Risk, Same Regulatory Outcome เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตอย่างมาก และอยากจะร่วมเป็นผู้ร่วมผลักดันในการเติบโตนี้  แต่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง  ซึ่งหากองค์กรใดที่ต้องการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้มาติดต่อ ก.ล.ต. ว่าการดำเนินธุรกิจนั้นๆ จำเป็นต้องขอใบอนุญาตหรือไม่

ไม่เพียงแต่ผู้กำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ที่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ในด้านของ “บล็อกเชน” ถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ที่รัฐบาลต้องช่วยผลักดันให้เกิดการรับรู้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่เป็นหนึ่งใน New S-Curve อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

หากประเทศไทย สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนได้อย่างเต็มที่ จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยลดขั้นตอน และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดทุจริต สร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้

อีกทั้งบล็อกเชนอาจเป็นประตูในการเปิดโอกาสทางการค้า การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ รวมทั้งเกิดการสร้างงานใหม่ เกิดธุรกิจ และอาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชน เนื่องจากมีความเป็น Open and Neutral ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

และเพื่อให้ประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงแนะนำให้คนไทยทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือ ปรับตัว และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ โดยอาจเริ่มจากการทำความรู้จักกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ศึกษากรณีการใช้งานต่างๆ และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อทำให้ประเทศไทย สามารถก้าวไปสู่โลกใบใหม่ที่ไร้พรมแดน และสามารถสร้างประโยชน์ให้คุณได้สูงสุด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์