วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ แกว่งตัวตามปัจจัยต่างๆระหว่างรอการประชุมเฟด

วิเคราะห์แนวโน้มตลาด : บล.ยูโอบี เคย์ เฮียนฯ แกว่งตัวตามปัจจัยต่างๆระหว่างรอการประชุมเฟด

ภาพรวมระยะสั้นยังไม่มีทิศทางชัดเจน โดยยังเป็นการแกว่งตัวตามปัจจัยที่เข้ามาระหว่างนักลงทุนรอภาพใหญ่ของทิศทางนโยบายการเงินที่จะชัดเจนขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ 13 ธ.ค.นี้

โดยปัจจัยที่เข้ามา ได้แก่ 1) การที่จีนถูกมูดี้ส์ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือ (แต่อันดับเครดิตยังคงเดิมที่ A1) 2) ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่องล่าสุดที่ 4.167% หลังสหรัฐฯ เปิดเผยตำแหน่งงานใหม่ (JOLTS Job Opening) ต.ค.ที่ 8.733 ล้านตำแหน่ง (ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 9.3 ล้านตำแหน่ง และชะลอจาก ก.ย.ที่ 9.553 ล้านตำแหน่ง) 3) ดัชนีค่าเงินสหรัฐฯ (Dollar Index) แข็งค่าขึ้นสู่ 103.957 จุด จากต่ำสุด 102.467 จุด ปรับขึ้นต่อเนื่อง 4 วันทำการ // ทั้งนี้แม้ตัวเลขเกี่ยวกับตำแหน่งงานจะช่วยลดความกังวลเงินเฟ้อ แต่ก็ทำให้ตลาดมองถึงความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ซึ่งจะกระตุ้นเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินสหรัฐฯ มีโอกาสแข็งค่าจากทิศทางเงินทุนไหลเข้าได้ 

ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อบรรยากาศลงทุนในช่วง ธ.ค.-ม.ค. เรายังประเมินบรรยากาศลงทุนในช่วงปลายปี-ต้นปี เป็นบวกจาก 1) โมเมนตัมการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (SET EPS) ที่ชะลอตัวลง และเริ่มปรับขึ้นหลังกลาง พ.ย.เป็นต้นมา 2) การเริ่มเสนอขายกองทุน Thai ESG Fund (TESG) ที่คาดจะเป็นปัจจัยหนุนให้เกิด Santa Clause Rally 3) การทยอยนำเงินลงทุนหุ้นต่างประเทศกลับไทยก่อนมาตรการจัดเก็บภาษีมีผลบังคับใช้ ซึ่งเราคาดเม็ดเงินบางส่วนมีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทย // ทั้งนี้ยังคงมุมมองเน้นหุ้นที่มีพื้นฐานดี หนี้ต่ำ กระแสเงินสดสูง ปันผลสูง รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่น่าจะอ่อนค่าในระยะกลางจากส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ-ไทยที่ค่อนข้างกว้าง
 

ภาพรวมกลยุทธ์ ลุ้นไม่หลุด 1,366 จุด เพื่อฟื้นตัว คาดบรรยากาศเก็งกำไรรายตัวโดยเฉพาะหุ้นกลาง-เล็ก ยังเป็นบวก และคงประเมินภาพใหญ่ของตลาดช่วงปลายปีต่อต้นปีฟื้น จากเงินเฟ้อชะลอ กดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง บวกต่อการฟื้นตัวของหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง การลงทุนเน้นหุ้นพื้นฐานดีที่ให้ปันผลสูง ขณะที่การเก็งกำไรเน้นกลุ่มที่ยัง Laggard และผ่านจุดที่แย่ที่สุดของผลประกอบการมาแล้ว

หุ้นแนะนำ: ADVANC*, SCGP*, AAI*, CPN*

แนวรับ: 1,366 / แนวต้าน : 1,400 จุด 

สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%

 

ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ

มูดี้ส์ปรับลดแนวโน้มเครดิตจีน - ลงสู่เชิงลบจากมีเสถียรภาพ โดยระบุถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในระยะกลาง และความเสี่ยงจากวิกฤติครั้งใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศของจีนไว้ที่อันดับ A1 ขณะที่คาด GDP จีนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.0% ในปี 2567 และ 2568 และจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.8% ตั้งแต่ปี 2569-2573

บิตคอยน์พุ่งทะลุ $42,000 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 - แตะระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนในช่วงสั้น ๆ โดยแนวโน้มการพุ่งขึ้นครั้งใหม่เกิดจากความเป็นไปได้ที่เฟด จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และบรรดาเทรดเดอร์คาดว่า สหรัฐจะอนุมัติกองทุนบิตคอยน์  ในเร็วๆ นี้ (อินโฟเควสท์)
 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ประกาศผลการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่จะใช้ในการคำนวณ FTSE SET Index Series มีผลวันที่ 18 ธ.ค.66 เป็นต้นไป - ดัชนี FTSE SET Large Cap Index ไม่มีการเปลี่ยนแปลง // ดัชนี FTSE SET Mid Cap Index มี 3 หลักทรัพย์ใหม่ที่เข้าร่วมคำนวณ ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT), บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW), บมจ. เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ (SJWD) // ส่วนหลักทรัพย์ที่ออก (Deletion) ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF), บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX), บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE), บมจ. สิงห์ เอสเตท (S),บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK), บมจ. สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP), บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) (อินโฟเควสท์)

 

ประเด็นติดตาม: 6 ธ.ค. - US ADP Nonfarm Employment Change / 7 ธ.ค. - US Initial jobless claim, TH CPI 

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)