ส.อ.ท. ชี้เงินทุน - ตลาด ปัจจัยท้าทายภาคธุรกิจ รับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ส.อ.ท. ชี้เงินทุน - ตลาด ปัจจัยท้าทายภาคธุรกิจ รับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีมาตรการบังคับใช้ที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ผู้กำหนดเทรนด์ของโลก อย่างองค์การสหประชาติ ออกมากำชับความร่วมมือเพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

นางสาวสวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ “ธุรกิจไทย ปรับตัวรับบริบทโลกร้อน” ภายในงานสัมมนา Go Green 2024: The Ambition of Thailand โดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ว่า สำหรับ ส.อ.ท. เองก็มีมาตรการในการขับเคลื่อนเพื่อดูแลเรื่องนี้ตลอดทั้งซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่การปล่อยคาร์บอนใน Scope 1 จากการดำเนินธุรกิจ Scope 2 จาการใช้น้ำ และไฟฟ้า และ Scope 3 จากซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

“ซึ่งเราต่างคนต่างเป็นสโคป 1,2,3 ของกันและกัน ถ้าเราไม่ทำตลอดทั้งอีโคซิสเต็มก็จะไปไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิป็นศูนย์ หรือเน็ต ซีโร่ก็ตาม”

นางสาวสวนิตย์ กล่าวต่อว่า ในมุมมองของภาคอุตสาหกรรมสิ่งที่เป็นความท้าทายที่สุดคือเรื่อง “เงิน” และ “ตลาด” หากวันนี้อยากทำธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไปถึงเป้าหมายเน็ต ซีโร่ ย่อมมีต้นทุนทางการเงินที่สูงมาก และทุกคนยังเป็นมือใหม่ 

ทั้งนี้การที่ผู้ประกอบการจะเข้าถึงกลไกแหล่งเงินไม่ว่าจะเป็น Climate Finance และ Taxonomy ได้ จะต้องมีดัชนีชี้วัดที่แสดงว่าธุรกิจเหล่านั้นเข้าเกณฑ์ และเงื่อนไข เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำลง

 

นอกจากนี้ ความท้าทายในแง่ของข้อบังคับที่แตกต่างกันในการค้าระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างมาตรการ CBAM ที่เก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอน สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งระยะแรกยังมีการผ่อนปรน และจะเข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเริ่มเป็นกังวลว่าต่อจากนี้หากมีการตรวจสอบคาร์บอนย้อนกลับ (Traceability) ทั้งซัพพลายเชน ถ้าไม่ได้ผ่านเกณท์ทั้งหมดก็จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ เทรนด์ของ Global Plastic Treaty สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดกำลังการผลิตของ single use พลาสติก ซึ่งภาคธุรกิจก็จะต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปใช้การรีไซเคิล หรือไบโอพลาสติก 

“มาตรการข้างต้นเป็นเพียงข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ทั้งแคนาดา สหรัฐ ที่จะออกมาตรการกำกับ และกำหนดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นหลัก (Climate Agenda)”

ส.อ.ท. ชี้เงินทุน - ตลาด ปัจจัยท้าทายภาคธุรกิจ รับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดันเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่าน

มาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมีผลบังคับใช้อย่างเข้มข้นในระยะข้างหน้า ซึ่งสำหรับเอสเอ็มอีก็เป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยง โดย ส.อ.ท.เองได้รับคำถามจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องที่ต้องการปรับตัว และวางแผนการดำเนินธุรกิจ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณ 

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีโครงการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการช่วงการเปลี่ยนผ่านชื่อว่า โครงการ BCG Indicator ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการประเมินธุรกิจตนเอง รวมทั้งอัปเดตเรื่องเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) แหล่งเงินทุน (Climate Fund) การตลาด และมาตรการข้อบังคับและนโยบายใหม่ๆ เพื่อช่วยให้สมาชิกยกระดับตลอดทั้งอีโคซิสเต็ม

"เป้าหมายเน็ต ซีโร่ใน Scope 3 (ซัพพลายเชน) ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของทุกองค์กร จะถูกบังคับอย่างเข้มข้นมากขึ้น หากทุกคนไม่เข้าใจภาพเดียวกันก็จะเดินไปด้วยกันไม่ได้เลย ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การขายของ และการดำเนินธุรกิจ"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์