หนังปลา และ เปลือกถั่ว วัสดุทางเลือกใหม่แวดวงแฟชั่น เพื่อความยั่งยืน ?

หนังปลา และ เปลือกถั่ว วัสดุทางเลือกใหม่แวดวงแฟชั่น เพื่อความยั่งยืน ?

อุตสาหกรรมแฟชั่นที่หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังเริ่มพัฒนาให้มีความรักษ์โลกและยั่งยืนมากขึ้น เมื่อดีไซเนอร์ชาวฮ่องกงนำวัสดุจากธรรมชาติ เช่น หนังปลา และ เปลือกถั่ว มาสร้างสรรค์เป็นแฟชั่น

KEY

POINTS

  • “อุตสาหกรรมแฟชั่น” ก่อให้เกิด “ขยะสิ่งทอ” ประมาณ 92 ล้านตันต่อปี ทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก
  • คินยาน ลัม เป็นดีไซเนอร์ที่มองว่า “ความยั่งยืน” มีความสำคัญต่อแวดวงแฟชั่น จึงได้นำ “เปลือกอาหาร” หลายประเภทมาทำเป็นสีย้อมจากธรรมชาติ และสร้างสรรค์ได้ถึง 440 เฉดสี
  • โนแอล ลี ดีไซเนอร์ชาวฮ่องกงก็ได้ใช้ “หนังปลาแซลมอน” มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการออกแบบ ส่วนหนึ่งเพื่อลดของเสียที่มาจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล

อุตสาหกรรมแฟชั่นที่หลายคนมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังเริ่มพัฒนาให้มีความรักษ์โลกและยั่งยืนมากขึ้น เมื่อดีไซเนอร์ชาวฮ่องกงนำวัสดุจากธรรมชาติ เช่น หนังปลา และ เปลือกถั่ว มาสร้างสรรค์เป็นแฟชั่น

หนังปลา เปลือกถั่ว เปลือกผลไม้ต่างๆ อาจเป็นขยะเศษอาหารธรรมดาๆ สำหรับคนทั่วไปที่มองว่าแทบนำไปแปรรูปเป็นอะไรไม่ได้เลย แต่ คินยาน ลัม (Kinyan Lam) กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไปในฐานะดีไซเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้าน “สีย้อมธรรมชาติ” เพราะวัสดุเหลือใช้จากอาหารเหล่านี้คือตัวเลือกชั้นดีที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับวงการแฟชั่น

นอกจากงานฝีมือที่เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์แล้ว คินยาน ยังมองว่า “ความยั่งยืน” ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะที่ผ่านมาปัญหาในอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลกก็คือ “อุตสาหกรรมแฟชั่น” ที่ก่อให้เกิด “ขยะสิ่งทอ” ประมาณ 92 ล้านตันต่อปี ซึ่งตัวการใหญ่ที่สุดก็คือ Fast Fashion และไม่ใช่แค่ขยะจากเสื้อผ้าทำนั้นที่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม แต่การปล่อยน้ำเสีย ขยะพลาสติก และการปล่อยสีย้อมที่เป็นพิษลงสู่ระบบนิเวศนอกจากจะสร้างความเสียหายแล้วยังทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเสื่อมเสียอีกด้วย

วัสดุเหลือใช้จากอาหาร ทางออกของ “แฟชั่นแบบยั่งยืน” ?

จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่น คินยาน จึงมองว่าสีย้อมจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้คือแฟชั่นที่ปลอดสารพิษและไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ จึงถือว่าเป็นทางเลือกสำคัญที่จะนำมาให้ในการสร้างสรรค์สินค้าแบรนด์แฟชั่น

โดยคินยาน สามารถสร้างสรรค์สีย้อมธรรมชาติออกมาได้ถึง 440 เฉดสี ซึ่งมาจากสีที่ทำจากเปลือกอาหารหลายประเภทที่กำลังจะกลายเป็นขยะ เช่น หัวหอม ทับทิม และถั่วดำ เป็นต้น นอกจากนั้นเขายังสกัดสีออกมาจาก “เกาลัด” ได้ด้วย

ผู้คนมักคิดว่าสีธรรมชาติเป็นสีหม่นหรือสีเทา แต่ไม่ใช่กับกรณีนี้” คินยานให้สัมภาษณ์กับ SCMP ก่อนที่จะขึ้นแสดงคอลเลกชันของตัวเองในงานปารีสแฟชั่นวีค ซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญของวงการแฟชั่นเพราะจะดึงดูดนักออกแบบ รวมถึงคนดังแถวหน้าในวงการบันเทิงและวงการแฟชั่นมากมายให้มารวมตัวกัน

คินยานเล่าเพิ่มเติมว่าเขาเติบโตมาท่ามกลางภูเขา ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขารักในสีย้อมธรรมชาติ “นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีความผูกพันทางอารมณ์อย่างมากกับต้นไม้ และวัสดุธรรมชาติ

สำหรับคินยานนั้นเกิดและเติบโตในมณฑลกวางตุ้งของจีน ที่รายล้อมไปด้วยต้นลิ้นจี่และต้นมะม่วง ต่อมาเมื่อเขาอายุ 14 ปี ได้ย้ายตามครอบครัวมาที่ฮ่องกง ก่อนจะสำเร็จการศึกษาจาก London College of Fashion ในเวลาต่อมา ซึ่งเขาได้อธิบายถึงตัวเองในตอนที่ยังเป็นเด็กว่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแฟชั่นเลย เพราะเสื้อผ้าที่ใส่ก็จะได้มาจากเสื้อผ้าของพี่ๆ หรือญาติๆ อีกที

คอลเลกชันแรกของคินยานเปิดตัวในปี 2020 เป็นผลงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าทำมือแบบดั้งเดิมที่ผลิตจากชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในมณฑลกุ้ยโจวของจีน โดยเขาอธิบายว่าได้เดินทางไปดูขั้นตอนการผลิตทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การปั่นด้ายแบบดั้งเดิม การย้อมผ้า การทอ และการนำมาเย็บปัก ซึ่งการเดินทางไปครั้งนั้นเขาอธิบายว่าเป็นประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันนอกจากการออกแบบที่แปลกใหม่สร้างสรรค์อย่างพิถีพิถันที่สร้างความประทับใจให้กับคนที่ได้เห็นคอลเลกชันของเขาแล้ว เขายังมองว่านี่คือแรงผลักดันสำคัญในการยกระดับชื่อเสียงช่างฝีมือจากฝั่งเอเชียอีกด้วย

หนังปลา และ เปลือกถั่ว วัสดุทางเลือกใหม่แวดวงแฟชั่น เพื่อความยั่งยืน ? ส่วนหนึ่งของสีที่คินยานสกัดออกมาจากวัสดุธรรมชาติ (SCMP)

“หนังปลา” ก็เป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นได้ ?

ทางด้าน โนแอล ลี (Noelle Lee) อีกหนึ่งดีไซเนอร์ชาวฮ่องกงที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในแฟชั่น และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักออกแบบที่สร้างชีวิตใหม่ให้กับงานฝีมือเก่า ก็ได้หยิบเอา “หนังปลาแซลมอน” มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการออกแบบ

แม้ว่าการนำหนังปลามาออกแบบเป็นสิ่งของต่างๆ จะมีมานานหลายศตวรรษโดยชนพื้นเมืองที่ใช้กันมาอย่างยาวนานจนถึงยุคที่เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ โนแอลก็ยังมองว่าหนังปลาเหล่านี้ยังสามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบได้อยู่

โนแอลกล่าวว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมีประวัติการผลิตเสื้อผ้าจากหนังปลา เช่นเดียวกับชาวเอสกิโมทางตอนเหนือของแคนาดา ชนกลุ่มน้อยในญี่ปุ่น และชุมชนจากฝั่งสแกนดิเนเวีย

กระบวนการในแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่มีวิธีการที่ใกล้เคียงกันมาก ในการปรับโครงสร้างผิวทางเคมีเพื่อคงสภาพหนังปลาไว้ได้นานขึ้น” โนแอลระบุ

เมื่อผ่านการกระบวนการต่างๆ เรียบร้อยแล้วหนังปลาจะมีลักษณะคล้ายกับหนังงูเล็กน้อย แต่มีน้ำหนักเบา มีความบาง และมีความแข็งแรงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหนังประเภทอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างเส้นใยของหนังปลาวิ่งตามแนวขวางต่างกับหนังวัวและหนังหมูที่จะวิ่งขนานกัน

ที่ผ่านมาโนแอลได้รับคำปรึกษาและได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนำหนังปลามาแปรรูปจากหลายพื้นที่ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น จีน และสแกนดิเนเวีย รวมถึงการค้นคว้าด้วยตัวเองที่ส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ Fish Leather Tanning and Sewing (2012) โดยนักเขียนชาวสวีเดน Lotta Rahme ทำให้ได้เทคนิคมากมายที่นำมาปรับใช้กับงานของเธอ

สำหรับกระบวนการแปรรูปนั้นเริ่มจากเมื่อปลาตาย มันจะเริ่มย่อยสลายตัวเองค่อนข้างเร็ว ดังนั้นจึงต้องรีบนำไปแช่แข็งโดยเร็วที่สุด หลังจากนั้นให้นำเกล็ด เนื้อ และกระดูกออก ก่อนนำหนังไปแช่ในแทนนินซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่พบได้ในพืชหลายชนิด โดยเฉพาะในเปลือกไม้ที่สามารถสกัดออกมาได้

หลังจากนั้นหนังจะถูกแช่ไว้ประมาณ 10 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของหนังและความเข้มข้นของเทนนิน และเมื่อเพิ่มเทนนินเข้าไปก็จะสามารถดับกลิ่นคาวได้ภายใน 2 สัปดาห์ด้วย ในทางกลับกันหากใช้กระบวนการเดียวกันนี้กับหนังวัวก็จะใช้เวลานานหลายเดือน

ต่อมาก็จะเข้าสู่การยืดผิวหนังที่เรียกได้ว่าต้องใช้แรงมากที่สุดในกระบวนการแปรรูป เพราะหากต้องการให้หนังมีความนุ่มก็ต้องยืดเป็นเวลานาน ซึ่งหนังชิ้นเล็กที่สุดที่เธอเคยยืดมามีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนหนังใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประมาณ 75 เซนติเมตร

หนังปลา และ เปลือกถั่ว วัสดุทางเลือกใหม่แวดวงแฟชั่น เพื่อความยั่งยืน ? หนังปลาแซลมอนที่อยู่ระหว่างกระบวนการแปรรูป (SCMP)

หนังปลา” เป็นสิ่งที่มาจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มักกลายเป็นของเสีย ดังนั้นการนำหนังมาแปรรูปก็เป็นตัวเลือกสำคัญในการช่วยไม่ให้มีขยะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโนแอลก็มองว่ามันเป็นมากกว่าวัสดุที่ยั่งยืนสำหรับแฟชั่นเสียด้วยซ้ำ เพราะเทคนิคการแปรรูปหนังปลาทั้งหมดที่ได้ศึกษามาคือการเรียนรู้จากปลาที่เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้การทำงานกับวัสดุธรรมชาติ

ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับ “วัสดุจากธรรมชาติ” อย่าง “หนังปลา” และ “เปลือกถั่ว” ที่กลายมาเป็นทางเลือกให้กับ “อุตสาหกรรมแฟชั่น” ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนและไม่แน่ว่าหลังจากนี้อาจจะมีวัสดุอื่นๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นรักษ์โลกได้ต่อไปในอนาคต 
อ้างอิงข้อมูล : SCMP