“green job” งานแห่งอนาคต 1 ใน 10 อันดับ โตเร็ว 5 ปีข้างหน้า

“green job” งานแห่งอนาคต  1 ใน 10 อันดับ โตเร็ว 5 ปีข้างหน้า

ในวันที่ทั่วโลกหันมามองเรื่องของ Sustainability ทำให้เรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่แค่การทำเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรอีกต่อไป แต่ถูกฝังอยู่ในตัวองค์กร ในผลิตภัณฑ์ และบริการ ซึ่งนั่นทำให้เทรนด์งานใหม่แห่งอนาคตอย่าง Green Job

ถูกพูดถึงกันมากขึ้น และ “ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน” เป็น 1 ใน 10 อันดับ งานเติบโตเร็ว ปี 2566–2570

การสำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Survey) ของโลก โดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) รวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศ พบว่า ตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของงานภายใน 5 ปีนี้ (2566-2570) คือ การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (Green transition) มาตรฐาน ESG ห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Localization of supply chains)

“green job” งานแห่งอนาคต  1 ใน 10 อันดับ โตเร็ว 5 ปีข้างหน้า

อีกทั้ง สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มขึ้นของงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน การศึกษา และการเกษตร ในช่วงปี 2566–2570 อาชีพที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ในเชิงธุรกิจ คือ ทำแบรนด์ให้ยั่งยืน ไม่ใช่แค่การรักษ์โลก แต่ทำให้องค์กรเติบโต ไม่ใช่กำไรระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ต้องมองว่าทำอย่างไรให้มองถึงผลกระทบสังคม ประเทศชาติ ความยั่งยืนคือระยะยาว 

สอดคล้องกับข้อมูลภาพรวมของ MEGA TREND ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ซึ่งมองว่า เรื่องของ Green Focused จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ความต้องการของคนที่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมีอัตราเพิ่มขึ้น 38.5% แต่กลับกันในช่วง 2015 - 2021 มีเพียง 13% เท่านั้น ดังนั้น ทักษะที่เกี่ยวกับ Green talent จะมีความจำเป็นมากขึ้น

 

“Green” ที่มากกว่าสิ่งแวดล้อม

“ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าแต่เดิมเราเข้าใจว่าฝ่ายที่ดูแลเรื่องของความยั่งยืน รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ เพราะวัตถุประสงค์ คือการทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้เรื่อง Green ไม่ใช่การสร้างภาพลักษณ์อีกต่อไป และที่สำคัญต้องอยู่ในตัวสินค้า ฝังในธุรกิจ รูปแบบการทำงาน และโครงสร้างการทำงานใหญ่ขึ้น เป็นแผนก ESG ขึ้นมา เป็นแผนกที่ดูแลเรื่องของ Governance โดยเฉพาะ หรือที่เราเรียกว่า Green Job

อย่างไรก็ตาม แม้จะเรียกว่า Green Job แต่ขอบเขตมากกว่าเรื่องของรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงเป็นเรื่องของสังคม ทำอย่างไรให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และมีหลักธรรมาภิบาล เป็นที่มาของงานรูปแบบใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นและโตขึ้น เพราะฉะนั้น ในบริษัทใหญ่ๆ จึงเริ่มให้ความสำคัญในการมีแผนกที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

“การสำรวจตำแหน่งงานที่น่าสนใจในอนาคต จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) , ESG Expert เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเราให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมี 17 เป้าหมาย ดังนั้น จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างจริงจัง ภาพลักษณ์องค์กรเด่นชัดมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วม ดังนั้น จะเห็นว่าขอบข่ายการทำงานจะใหญ่ขึ้นเพิ่มกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ แม้ความยั่งยืนจะถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ศ.ดร.วิเลิศ มองว่า เรายังต้องเพิ่มกำลังคน ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น จะผลิตสินค้า Green ต้องคำนึงตั้งแต่ฝ่ายผลิต ฝ่ายสื่อสาร และการตลาดที่ต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทำอย่างไรให้มีมูลค่าและน่าสนใจ เพราะฉะนั้น ความสำคัญมีมากขึ้น เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ คนที่ทำงานปัจจุบัน ต้องมีความรู้ความสามารถมากกว่าการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์

“ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืน แปลว่าเราสามารถอยู่บนโลกใบนี้โดยมีกำไร และไม่ใช่ผลตอบแทนทางด้านสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีผลตอบแทนด้านสังคม และเป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับด้วย สังเกตว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีโครงการที่นำเสนอเรื่องของ ESG อย่างต่อเนื่อง เพราะแสดงว่ากำลังสร้างธุรกิจที่มีความ Sustainability ความยั่งยืนที่ไม่ได้แปลว่าองค์กรอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้โลก ประเทศชาติ อยู่รอดไปด้วย”

 

ท้ายนี้ ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า สำหรับ CBS ในฐานะสถาบันการศึกษา มุ่งสร้างผู้นำแห่งอนาคต และให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ล่าสุด มีการแต่งตั้งรองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและความยั่งยืนขึ้นมา เพื่อให้มีคนทำงานในด้านนี้อย่างจริงจัง อีกทั้ง ยังมีโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ให้นิสิต ทำบัญชีให้กับระบบชุมชน และมีโครงการสร้างธุรกิจร่วมกับชุมชน ให้ผู้ประกอบการสามารถมีกำไร ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสังคมได้เช่นกัน และนี่คือ Chula business model ที่เราให้ความสำคัญและเป็นจุดเริ่ม ที่จะทำให้องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน