เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

นับตั้งแต่ต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าปีที่แล้ว

โชคดีที่ช่วงกลางเดือนกันยายน ถึง ตุลาคมมีฝนมาก แต่ปริมาณน้ำโดยรวมในอ่าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกยังมีน้อยกว่าปีก่อน 

ข้อมูลของกรมชลประทานแสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 18 ต.ค. 2566 รวมกันทั้งสิ้น 58,928 ล้าน ลบ.ม. (น้อยกว่าวันเดียวกันในปี 2565 ที่ 63,773 ล้าน ลบ.ม.)

ยิ่งไปกว่านั้นตุลาคมที่ผ่านมา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานว่า โอกาสเกิดเอลนีโญระดับรุนแรงอยู่ที่ประมาณ 75-85 % ผลกระทบอาจเริ่มต้นหลังเดือนตุลาคมและชัดเจนช่วงปลายปีนี้  ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

หลายประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย จะได้รับผลกระทบปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยลดลงอย่างน้อย 5 – 10% หลายพื้นที่อาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง

ถึงแม้ผลกระทบความแห้งแล้งจากเอลนีโญจะทุเลาลงภายหลังกลางปี 2567 แต่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Liang และคณะ (2021) ที่แสดงว่าปริมาณน้ำฝนจะมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านๆมา ยาวนานกว่า 5 ปี หรือจนถึงปี 2571

แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ย่อมส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมากที่สุด 87% รวมถึงการปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่สำคัญของประเทศไทย

คำถามสำคัญคือ ภาวะเอลนีโญจะกระทบต่อผลผลิตทุเรียนอย่างไร และชาวสวนควรมีแนวทางรับมืออย่างไรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

“ความเสี่ยงต่อปริมาณและคุณภาพของทุเรียนไทย จากสภาพอากาศแล้งและการขาดน้ำ”

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากความนิยมของตลาดภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น 

เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

จากการลงพื้นที่สำรวจของ TDRI ในปี 2566 พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี และระยอง หลายรายตัดต้นยางและพืชชนิดอื่น ไปปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะรายได้จากการขายทุเรียนอาจมากถึง 1 แสนบาทต่อไร่

ด้วยเหตุนี้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ใน จ.จันทบุรี จาก 228,924 ไร่ในปี 2561 กลายเป็น 320,494 ไร่ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 40%  ขณะที่ใน จ.ระยองจาก 71,128 ไร่ในปี 2561 กลายเป็น 117,753 ไร่ในปี 2565  หรือ เพิ่มขึ้นถึง 66%

การทำสวนทุเรียน ในช่วง 6 เดือนของการออกดอกและดูแลผลทุเรียน การศึกษาของทรงศักดิ์ ภัทราวุฒชัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2563 พบว่าในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ชาวสวนมักใช้น้ำไม่ต่ำกว่า 6,500 ลบ.ม. และช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม ชาวสวนจะให้น้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน ส่วนช่วงกุมภาพันธ์ - เมษายน ให้น้ำ 200 – 300 ลิตร/ต้น/วัน

(แต่จากการที่ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มลดลงจากเอลนีโญในปลายปีนี้  ตรงกับช่วงระยะการเจริญเติบโตของผลทุเรียนภาคตะวันออกพอดี คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ถึงกุมภาพันธ์ 2567 

ดังนั้นผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งผลผลิตที่จะลดลง และผลทุเรียนที่จะมีขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความสมบูรณ์

เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

เหตุผลเกิดจากในกระบวนการสังเคราะห์แสง ปากใบพืช (Stomata) จะเปิดเพื่อคายน้ำ แลกเปลี่ยนก๊าซ CO2 และ O2 น้ำจะถูกดูดผ่านรากขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นพร้อมกับธาตุอาหาร ตามที่งานศึกษาของ รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพอากาศร้อนจัด พืชมีกลไกอัตโนมัติในการป้องกันการสูญเสียน้ำ ด้วยการปิดปากใบ ทำให้ไม่เกิดการสังเคราะห์แสง ไม่ดูดน้ำและธาตุอาหารขึ้นไป ต่อให้ดินชุ่มช่ำน้ำ หรือให้น้ำมากแค่ไหน ก็เป็นการให้น้ำเกินจำเป็นอย่างเปล่าประโยชน์

ปรากฏการณ์เอลนีโญนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเท่านั้น ภาคอื่นก็อาจโดนผลกระทบเช่นกัน เช่นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ทุเรียนลับแลอุตรดิตถ์ ทุเรียนป่าละอู เป็นต้น

เพราะมีการขยายพื้นที่ปลูกไปทั่วประเทศ รวมไปถึงทุเรียนภาคใต้ที่แม้ว่าช่วงออกดอกจะเริ่มช้ากว่าก็ตาม โดยจะโดนผลกระทบช่วงออกดอก เดือน มีนาคม – เมษายน ปี 2567 

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เจ้าพนักงานสถิติชำนาญงานผู้สำรวจพื้นที่เพาะปลูกจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 พบว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนภาคใต้แทบทั้งหมดอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะยิ่งเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในช่วงแห้งแล้ง

เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรที่ปลูกทุเรียน ยังจะมีปัจจัยมาจากการที่เกษตรกรบางส่วนปลูกทุเรียนในพื้นที่นอกเขตชลประทานหรือพื้นที่ป่า เช่น ใน จ.กาญจนบุรี และยังมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

การปลูกทุเรียนในพื้นที่เหล่านี้ต้องอาศัยการส่งน้ำผ่านรถขนส่งน้ำที่สูบจากแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำจากทั้งผู้ใช้น้ำเก่าและใหม่ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “ทุเรียนป่าละอู” ในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกษตรกรจำนวนกว่า 350 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนกว่า 300 ไร่ เผชิญหน้ากับการขาดแคลนน้ำ ทำให้ต้นทุเรียนยืนต้นตายอย่างน้อย 500 ต้น ผลผลิตจากต้นที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้มาตรฐาน บางส่วนร่วงหล่นจากต้น

เกษตรกรเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้น้ำน้อยเป็นเพราะการเปลี่ยนทิศทางผันน้ำเพื่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่แท้จริง คือ แม้กรมชลประทานได้มีการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร โดยผันน้ำไปบรรเทาความเดือดร้อน แต่ผู้ที่อยู่ต้นน้ำได้ผันน้ำและใช้อย่างฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่งงพบการใช้ท่อผีในการสูบน้ำเข้าบ่อในสวนตัวเอง

อีกทั้งยังมี ผู้ใช้น้ำรายใหญ่ดึงน้ำไปใช้ระหว่างทาง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลไปถึงเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนไม่เพียงพอกับความต้องการเช่นเดิม  (รายการร้องทุก(ข์) ลงป้ายนี้, 11 เม.ย. 66)

เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

แล้วปัญหานี้จะแก้ไขได้อย่างไร ?

ทางออก คือ ภาครัฐควรส่งเสริม สนับสนุนและเผยแพร่นวัตกรรมการเพาะปลูกทุเรียนที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม ครบวงจร และต่อเนื่อง เช่น เทคนิคการปลูกทุเรียนแบบลดการใช้น้ำ

ก่อนหน้านี้มีการทดลองของ ดร.ทรงศักดิ์ ภัทราวุฒชัย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า การปลูกทุเรียนไม่จำเป็นต้องให้น้ำในปริมาณมากๆตามความเข้าใจของเกษตรกร

เช่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ชาวสวนนิยมให้น้ำมากถึง 200-300 ลิตร/ตัน/วัน แต่การทดลองพบว่าสามารถให้น้ำเพียง 150 ลิตร/ต้น/วัน ปริมาณและคุณภาพผลผลิตไม่แตกต่างกัน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำ/สูบน้ำ

ในสภาวะแล้งนี้ นักเกษตรให้ข้อแนะนำว่าเกษตรกรควรให้น้ำแค่พอชุ่มชื้นต่อการเลี้ยงระบบรากให้มีชีวิต เพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมต่อไป ต่อให้ให้น้ำมากแค่ไหน แต่ด้วยข้อจำกัดของสภาพอากาศร้อนและแห้ง ปากใบไม่เปิด ย่อมส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตทุเรียน หรือ ในสภาวะที่พืชเครียด

ถ้าจัดการลดจำนวนดอกที่ติดผล ปลิดออก ภาระในการเลี้ยงดูของต้นก็น้อยลง ซึ่งต้องมีฝ่ายวิชาการเข้าไปศึกษาเรื่องนี้โดยตรง ว่าในช่วงแล้งแต่ละระดับ ควรมีการตัดจำนวนดอกที่ติดผลเท่าไหร่ ถึงจะลดผลกระทบจากภาวะแล้ง โดยที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างปริมาณและคุณภาพผลผลิตทุเรียนให้มากที่สุดได้

เอลนีโญแนวโน้มรุนแรง เกษตร-ทุเรียน ไทยเสี่ยงขาดน้ำ

นอกจากนี้ ควรสร้างระบบพี่เลี้ยงจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการปลูกทุเรียนที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการจำกัดปริมาณดอกที่ติดผล พร้อมการติดตามช่วยแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดในแปลงทดลองจริง จนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

ไม่ใช่เพียงแค่จัดการอบรมทางทฤษฎี ที่เน้นนับจำนวนผู้เข้าร่วม แต่เกษตรกรไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ชลประทานและใกล้เคียง ภาครัฐต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้เข้มแข็ง และสร้างกลไกการเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อลดความขัดแย้ง

เพราะหากไม่มีระบบจัดการร่วมกัน การแย่งน้ำกันจะทำให้หลายคนเสียหาย รวมถึงการลงทุนเทคโนโลยีระบบการจัดสรรน้ำและการตรวจสอบปริมาณการสูบน้ำที่มีความแม่นยำ เช่น กรมชลประทานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกันจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างท่อส่งน้ำที่มีมาตรวัดน้ำคุณภาพดี

พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบำรุงรักษาแหล่งน้ำ ผ่านการเก็บค่าใช้น้ำที่ให้อำนาจกลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บค่าใช้น้ำเข้ากลุ่มหรืออปท. และนำเงินที่เก็บได้มาใช้บำรุงรักษาแหล่งน้ำและท่อส่งน้ำภายในพื้นที่ตนเอง

เพราะหากเก็บเงินค่าน้ำเข้าคลัง กลุ่มผู้ใช้น้ำจะไม่ยินดีจ่าย  นอกจากนี้หน่วยราชการควรเป็นตัวกลางในการลดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้ใช้น้ำ กับกลุ่มผู้ใช้น้ำประปา  อุตสาหกรรมและบริการ

เหล่านี้คือตัวอย่างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ.