ระบบนิเวศน์เทคโนโลยี สิ่งสำคัญต้องมีเพื่อนวัตกรรมที่ยั่งยืน

ระบบนิเวศน์เทคโนโลยี สิ่งสำคัญต้องมีเพื่อนวัตกรรมที่ยั่งยืน

ผมรับอีเมลอัปเดตเรื่องราวจากหลายทาง เเละที่เปิดอ่านบ่อยที่หนึ่งก็คือ อีเมลสรุปเรื่องราวน่าสนใจประจำวันของวารสาร Nature ซึ่งปกติจะเน้นพวกข่าวสารทางวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าด้านงานวิจัยเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่วันนี้ พาดหัวในเมลกลับมาแบบแปลกๆ เปิดมาด้วยประโยค “Why your department should throw a party หรือถ้าแปลไทยก็คือ ทำไมส่วนงานของคุณถึงควรจะจัดปาร์ตี้” ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจมาก

ความคิดแว่บแรกที่ผุดขึ้นมาในสมอง ก็คือ “ทำไม Nature ถึงเปลี่ยนไป” แต่มานั่งคิดดูอีกที ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะถ้ามองแบบแฟร์ๆ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ข้อสุดท้ายคือ การสร้างพันธมิตร (partnership) ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันอย่างจริงใจ และยั่งยืน

ซึ่งมักจะไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการเจรจาทางธุรกิจ แต่มักจะเกิดขึ้นมาจากมิตรภาพที่สร้างขึ้นมาจากการพบปะสังสรรค์ในวงปาร์ตี้เสียมากกว่า

ที่จริงแล้ว เมื่อไม่กี่วันก่อน ในขณะที่ผมเลื่อนผ่านโพสต์ต่างๆ ในแอป Linkedin ผมก็ไปสะดุดกับภาพเก่าโบราณจากโพสต์ของห้องทดลองแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Berkeley Lab ที่ทำงานเก่าของผมเองในอดีต

มันเป็นภาพของชายสามคนกำลังยืนชิลล์ คุยกัน ในมือถือโค้กคนละขวด กับแคปชั่นที่ว่า “ไอเดียที่ทรงคุณค่ามักจะมาจากบทสนทนาที่ไม่เป็นทางการ อาจจะเป็นที่ข้างๆ ตู้น้ำแข็งก็ยังได้”

 

ภาพนี้ถ่ายเมื่อราวๆ ทศวรรษที่ 1940s ชายในภาพ คนนึงคือ เออร์เนสต์ ออแลนโด ลอว์เรนซ์ (Ernest Orlando Lawrence) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี 1939 เออร์เนสต์โด่งดังมากมาจากคิดค้นไซโคลตรอน (cyclotron) และก่อตั้ง Berkeley Lab ซึ่งเป็นห้องทดลองแห่งชาติที่มีบทบาทมากที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกคนคือ เอ็ดวิน แมคมิลแลนด์ (Edwin McMillan) นักวิทยาศาสตร์ รางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 1951 ผู้ค้นพบธาตุเนปจูเนียม (Neptunium)

อินเทรนด์ฮอตฮิตติดกระเเสภาพยนตร์ Oppenheimer พอดี เพราะทั้งสองคือ มันสมองหลักของการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ในโครงการแมนฮัตตัน (Manhatton project)

ว่ากันว่าสารพัดไอเดียอันบรรเจิดที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในตอนนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการยืนคุยกันแบบชิลล์ๆ สบายๆ ไม่เป็นทางการ บนโต๊ะกินข้าว ข้างโต๊ะพูล หรือแม้แต่ในวงเบียร์แบบในรูปน้อยมากที่จะผุดขึ้นมาแบบยูเรก้าในตอนที่กำลังประชุมกันอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แนวคิดดีๆ มักจะมาในเวลาที่เราได้สนทนากับคนอื่นแบบไม่หมกมุ่น และยึดติดอยู่กับปัญหา

อย่างตอนที่ผมทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่เบิร์กลีย์ ทีมของเรา (ที่มาจาก 3-4 ห้องทดลอง) จะมีนัดกันทุกเช้า เพื่อจิบกาแฟ และกินคุกกี้ (บางทีก็เบเกิล) ร่วมกัน ตอนช่วงสิบโมง นั่นคือ เช้าที่สุดที่เหล่านักวิจัยที่มีวิถีชีวิตราวนกฮูกราตรีอย่างพวกผมจะตื่นมาเข้าร่วมได้ทัน ส่วนใหญ่ จะพูดคุยเมาท์มอยกันพอประมาณ (สักครึ่งชั่วโมง) ค่อยแยกตัว บางทีก็อาจจะมีเรื่องแจ้งเพื่อทราบก็เล็กน้อย บางทีก็อัปเดตความก้าวหน้าที่แต่ละคนไปเจอมา เรื่องส่วนใหญ่ที่คุยมักจะเป็นเรื่องสัพเพเหระ เรื่องส่วนลดที่เจอในเน็ต เรื่องเที่ยว เรื่องอาหาร แต่ไม่ช้าไม่นาน ก็จะวกเข้าเป็นเรื่องงานทุกที  เป็นแบบนี้ทุกวัน จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ทุกคนเคยชิน

ใครเชิญใครมาบรรยายพิเศษอะไรก็จะมาแนะนำในวง คนเก่าคนใหม่ได้แลกเปลี่ยน แขกไปใครมาได้พบปะ ทุกคนแฮปปี้ที่จะทำงานร่วมกัน ท้ายที่สุดเกิดความร่วมมือกันเกิดเป็นโครงการดีๆ ที่ประสบความสำเร็จมากมาย  ปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ตก แค่เอ่ยปากถาม ก็รู้วิธีแก้ได้ในสามสิบวินาที เพราะปัญหาที่เจอ หลายคนอาจจะเคยเจอ และก้าวข้ามผ่านมันมาได้เเล้ว และทุกคนพร้อมที่จะแชร์ คัลเจอร์แบบนี้น่าสนใจ แม้จะดูเหมือนจะเสียเวลางานไปกับการพูดคุยไร้สาระ แต่ผลที่ตามมากลับดีเกินคาด ท้ายที่สุด อาจจะประหยัดเวลาในการ trial & error ไปได้มากโข

ในตอนนั้น อีกเรื่องที่เป็นประเด็นยอดฮิตในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหนในเขตอ่าวซานฟรานซิสโกก็มักจะได้ยินคนคุยกันถึงเรื่องนี้อยู่ตลอด ก็คือ เรื่องราวของการสร้างสตาร์ตอัป  

แทบทุกวัน สตาร์ตอัปหน้าใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดนับร้อยนับพัน  เกิดขึ้นมาไว ก็ล้มหายตายจากไปไวไม่แพ้กัน

บางเจ้าก็ล่มเพราะมีแต่แนวคิดดีๆ แต่ไม่รู้จะไปยังไงต่อ แต่บางเจ้าล่มเพราะหาพาร์ตเนอร์ที่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันไม่ได้  ลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) กับสตีฟ วอซนิแอค (Steve Wozniak) ไม่เคยมีโอกาสได้โคจรมาเจอกัน!!!

 

และนั่นคือ สาเหตุที่ทำให้องค์กรระดับโลกหลายแห่งให้ความสำคัญกับการจัดปาร์ตี้เพื่อดึงนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และเหล่าเนิร์ดนักประดิษฐ์คิดค้นออกมาจากแล็บ ให้ได้มีโอกาสมาพบปะกันเจอกันกับสังคมโลกภายนอกบ้าง เผื่อได้เจอกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจใจตรงกันที่พร้อมจะสานสัมพันธ์ผลักดันผลงานนวัตกรรมไปต่อให้ถึงสุดทาง ผลงานจะได้ถูกประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ กับสังคม

เพราะการพบปะเพื่อสร้างความร่วมมือคือ จุดเริ่มต้นของการบูรณาการ และการบูรณาการคือ หัวใจของการสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยี และระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนด้านงานวิจัย

และนั่นคือ สาเหตุที่สถาบันระดับโลกส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับชั่วโมงสานสัมพันธ์ในสังคม (social hour) เป็นอย่างมาก

ที่จริง ประเทศไทยก็เคยมีการจัดให้นักวิจัยจากต่างที่ได้มีโอกาสพบปะกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือในอดีต อย่างโครงการนักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโสของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มีประโยชน์มากกับนักวิจัยรุ่นใหม่ แม้ว่ารุ่นใหม่บางส่วนจะไม่ได้สร้างคอนเนคชั่นกับรุ่นใหญ่ แต่การได้มาพบปะกับรุ่นใกล้ๆ จากต่างที่ก็ทำให้เกิดโครงการดีๆ ที่มาจากการจับมือของรุ่นเดียวกันขึ้นมาไม่น้อย น่าเสียดาย ที่โครงการนี้ ถูกยกเลิกไปหลังการปรับโครงสร้างองค์กรตอนเปลี่ยนชื่อกระทรวง

 

อย่างไรก็ตาม การพบปะสังสรรค์กันในวงวิจัยนั้นยังคงพอมีอยู่ประปรายนอกเหนือจากการพบกันตามงานประชุมวิชาการ แม้เซคชั่นในการคุยกันเพื่อสานสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการจะลดน้อยลงมาก และไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต อย่างเช่น ในการประชุมของ consortium ต่างๆ ในสังคมวิจัยเฉพาะทาง อาทิเช่น  Thai Synthetic Biology Consortium ที่มักจะมีช่วงคุยเมาท์กันเล็กๆ ในระหว่างทอล์ก และการพบปะกันของเหล่าสตาร์ตอัปแบบไม่เป็นทางการในรีเซฟชั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบ่มเพาะ และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเครือข่ายสตาร์ตอัปสายเทค และสายฟู้ด อย่างเช่นที่จัดโดยศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัประดับนานาชาติอย่าง SPACE-F เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีน้อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย

บางที อาจจะถึงเวลาที่เราควรเปลี่ยนแนวคิด และหันมามองกลยุทธ์กันบ้าง เพราะการทำงานในสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ ค่านิยมการทำงานแบบหัวชนฝา หน้ามองโต๊ะ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่จะผลักดันเทคโนโลยีให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าจนสามารถไปท้าแข่งขันกับใครเขาได้ในเวทีโลก

อย่าลืมว่าท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจหมื่นล้าน และนวัตกรรมพลิกโลก ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากคนแค่คนเดียว

ระบบนิเวศน์เทคโนโลยี สิ่งสำคัญต้องมีเพื่อนวัตกรรมที่ยั่งยืน

ภาพจาก Linkedin ของ Berkeley Lab ในภาพ เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ (กลาง) กำลังคุยกันอย่างสบายใจกับเอ็ดวิน แมคมิลแลนด์ (ขวามือ) ข้างคูลเลอร์น้ำอัดลมเจ้าดัง

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์