White Paper: กางแผนกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

สวัสดีครับ เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ยินนายธนาคารระดับโลกท่านหนึ่งกล่าวว่า ณ วันนี้ หากสถาบันการเงินแห่งใดยังไม่เริ่มวางแผนด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ก็ถือได้ว่า “ชักช้าเกินไปเสียแล้ว” 

คำกล่าวนี้แม้จะดูค่อนข้างท้าทาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจริงทีเดียว  การวางแผนเส้นทางอย่างรอบคอบช่วยให้เราเดินทางสู่จุดหมายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพครับ  ขณะนี้ หลายๆ องค์กรไม่เพียงเริ่มวางแผนแล้ว แต่ได้สร้างแผนที่มีความละเอียดชัดเจนบนพื้นฐานจากผลงานวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการองค์กร ซึ่งเราเรียกแผนลักษณะนี้ว่า “White Paper”

วันนี้ผมอยากจะเล่าถึง White Paper ของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก  MUFG เรียกแผนนี้ว่า Transition White Paper 2022 เป็นแผนที่ผมอ่านด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุที่ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยในบางด้าน อาทิ ในปี 2562 ภาคพลังงานและขนส่งของญี่ปุ่นปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนร้อยละ 67 ของก๊าซทั้งหมด ขณะที่ในปีเดียวกันนี้ ภาคพลังงานและขนส่งของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 70  แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างในปัจจุบัน แต่ยังน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับของไทย ทำให้ White Paper ของ MUFG มีความน่าศึกษามากครับ

White Paper ฉบับนี้เน้นการลดคาร์บอนใน 6 ภาคธุรกิจหลักของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ พลังงาน เหล็ก ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ และแก้ว ซึ่งรวมกันแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกือบร้อยละ 70 ของทุกอุตสาหกรรม โดยแผนของทั้งภาครัฐและเอกชนสำหรับอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่นมีดังนี้

 

ภาคธุรกิจพลังงาน - เพิ่มพลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานแอมโมเนีย รวมกันให้ถึงร้อยละ 59 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของญี่ปุ่นภายในปี 2030

ภาคธุรกิจเหล็ก - ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตเหล็กกล้าด้วยเตาแบบใหม่ที่ใช้ไฮโดรเจน

ภาคธุรกิจปูนซีเมนต์ - ในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลเนื่องจากปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้น้อยกว่า

ภาคธุรกิจเคมีภัณฑ์ - กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่จะแปลงชีวมวลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเคมีภัณฑ์

ภาคธุรกิจกระดาษ - ในปี 2020 ญี่ปุ่นรีไซเคิลกระดาษได้สูงถึงร้อยละ 67 และยังคงมุ่งมั่นเพิ่มอัตราการรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ภาคธุรกิจแก้ว - การผลิตกระจกสองชั้นคุณภาพสูงที่สะท้อนความร้อน ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศทั้งในอาคารและรถยนต์

ทั้งนี้  เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล่านี้ให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอน  MUFG ได้เริ่มให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) แก่ลูกค้าจำนวนมากขึ้นทุกปี 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจใน White Paper นี้คือจากที่ความต้องการพลังงานต่อหัวเพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วทั้งอาเซียน การบริโภคพลังงานถ่านหินจึงเพิ่มขึ้นด้วย  ข้อมูลจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ชี้ว่าจากปี 2000 ถึง 2020 เวียดนามใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 11 เท่า เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็เริ่มลดการใช้พลังงานถ่านหินแบบไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพียงพอ (Unabated Coal) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานอื่นๆ อาทิ พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า ดังนั้น แนวปฏิบัติสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของญี่ปุ่นก็อาจจะสามารถนำมาศึกษาเป็นข้อมูลประกอบสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการลดคาร์บอน (Blueprint for Asia Decarbonization) ได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในธุรกิจย่อมส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย การบรรเทาระดับของผลที่อาจตามมาจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป  ในงานศึกษาเรื่องผลกระทบของ Green Transition ต่อภาคเศรษฐกิจจริง ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ พบว่าผลกระทบของความเสี่ยงในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถและความเร็วในการปรับตัวของธุรกิจ สรุปได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

(1) กลุ่มธุรกิจที่มี Transition Risk ต่ำ อาทิ ธุรกิจการขนส่งทางระบบราง ซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายที่เอื้อต่อการหันไปใช้พลังงานสีเขียว

(2) กลุ่มธุรกิจที่มี Transition Risk สูง อาทิ ธุรกิจยานยนต์สันดาปภายใน เนื่องจากเป็นต้นทางปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้รับผลโดยตรงจากการปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน

(3) กลุ่มธุรกิจที่มี Transition Risk ปานกลาง อาทิ ธุรกิจเครื่องทำความเย็น เนื่องจากมีเวลาในการปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้นแล้ว หนึ่งในหนทางการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างราบรื่น คือการดำเนินมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างฉับพลันในภายหลังจนกระทบตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ  และผมเชื่อว่าแผนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นระบบ เสริมด้วยการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน จะช่วยให้เราก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวไปด้วยกันได้อย่างแน่นอนครับ