ผ่าแผนพลังงานชาติ 2023 เร่งเครื่องส่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

ผ่าแผนพลังงานชาติ 2023 เร่งเครื่องส่งไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

โจทย์ใหญ่ที่ว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) เป็นความท้าทายที่ภาคพลังงานในฐานหน่วยขับเคลื่อนหนึ่งของเศรษฐกิจ

 

กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ (PDP 2023) ระหว่างปี 2566-2580 หรือ PDP 2023 (ค.ศ. 2023 – 2037) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพลังงานชาติ ที่มีทิศทางสอดรับกับข้อตกลงที่ประเทศจะมุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน หลังจากแผนพลังงานชาติ 2022 มีความล่าช้า จนไม่สามารถนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ทันในปี 2565 จึงปรับแผนใหม่ เป็นแผนพลังงานชาติ 2023 แทน

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานชาติ 2023 (National Energy Plan 2023) โดยรวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างสมดุลที่มาจากพลังงาน ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องปรับเป้าหมายการทำแผนใหม่ ประกอบด้วย

1. ด้านไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% ให้สอดคล้องแนวโน้มต้นทุน RE ที่ต่ำลง โดยพิจารณาต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวสูงขึ้น

2.ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Regional LNG Hub

3.ด้านน้ำมัน ต้องปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยโบาย 30@30

4.ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนทุกภาคมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด จะดำเนินการผ่านแผน PDP 2023 ที่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ เช่น การเน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) เพื่อให้มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบ (IPS) รวมถึง Disruptive Technology เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับ Energy Transition

ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) อัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จำกัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (LTS) ตามนโยบาย Carbon neutrality และ Net zero emission

“ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย และทำให้พลังงานสะอาดมากขึ้น จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ตรงตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะสามารถประชาพิจารณ์แผนพลังงานชาติ 2023 ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2566 เพื่อเตรียมนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานท่านใหม่ และหวังว่าแผนพลังงานชาติ 2023 จะแล้วเสร็จกลางปี 2566 นี้”

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 กกพ. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2)

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนมากขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้มีไฟฟ้าพลังงานทดแทน 9,996 เมกะวัตต์ เป็น 12,700 เมกะวัตต์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าว จะเพิ่มจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม), พลังงานลม, ไบโอแก๊ส และขยะอุตสาหกรรม