Thailand Taxonomy บทบาท'แบงค์ชาติ' กับภารกิจเปลี่ยนผ่านสุู่ Net Zero

Thailand Taxonomy บทบาท'แบงค์ชาติ'  กับภารกิจเปลี่ยนผ่านสุู่ Net Zero

ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นก้าวสำคัญอย่างแต่มีสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั่นคือการคำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็วของการปรับตัวที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ที่ต้อง “ไม่ช้าเกินไป”

จนเกิดผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และ“ไม่เร็วเกินไป” จนทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลัง

ศิริพิมพ์  วิมลเฉลา  ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ภาคธนาคารในฐานะที่เป็นผู้จัดสรรเงินทุนให้แก่ระบบเศรษฐกิจจึงถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าทัน ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินที่มีความหลากหลายและต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นไปได้ด้วยดี 

ธปท. จึงมุ่งเน้นการปิดช่องว่างสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจและลดอุปสรรคให้สถาบันการเงินเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างผลลัพธ์ 3 ด้าน ดังนี้

1. สถาบันการเงินมีการออกผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์และช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจได้อย่างทั่วถึงและทันการณ์ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงและแรงจูงใจที่เหมาะสม โดย ธปท. จะพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรค และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการผลักดัน การจูงใจ และการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ในการปรับตัว 

2. ประเทศไทยมีระบบนิเวศ ที่สนับสนุนการระดมทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green finance) และการระดมทุนเพื่อการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (transition finance) 

โดยมีปัจจัยความสำเร็จคือ สามารถวัดและประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถพิสูจน์ได้ว่ากิจกรรมที่ดำเนินการเป็นสีเขียวหรืออยู่ระหว่าง transition จริง ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมั่นใจได้ว่าธุรกิจที่มาขอสินเชื่อกำลังปรับตัวเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ 

“ ธปท. ได้ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน ในการจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อจัดทำนิยามหรือจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาเดียวกัน โดยจะเริ่มจัดกลุ่มใน 2ภาคเศรษฐกิจที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง คือภาคพลังงานและภาคขนส่ง และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างทำร่างฉบับสมบูรณ์เพื่อที่จะเผยแพร่ภายในครึ่งปีแรกนี้

3. ระบบสถาบันการเงินต้องมีความมั่นคงและน่าเชื่อถือ สามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารต้องนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาผนวกในกระบวนการทำงานอย่างมีมาตรฐาน มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมีเครื่องมือประเมินและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมี

ประสิทธิภาพ 

ธปท.ตระหนักดีว่าการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งผ่านแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เช่น บริษัทในห่วงโซ่การผลิต หรือ supply chain ให้สามารถปรับตัวได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมได้