แผนพลังงานหมุนเวียนเตรียม ความพร้อมเอกชนขายไฟสะอาดให้รัฐ

แผนพลังงานหมุนเวียนเตรียม  ความพร้อมเอกชนขายไฟสะอาดให้รัฐ

พลังงานหมุนเวียน กำลังเป็นผู้เล่นใหม่ในกิจการพลังงานของประเทศไทยและเป็นเงื่อนไขดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญนับจากนี้ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจในประเทศก็กำลังมองหากิจการพลังงานหมุนเวียนทั้งเพื่อการเป็นผู้ใช้

ผู้ผลิตเพื่อป้อนไฟฟ้าเข้าสู่แผนพลังงานแห่งชาติต่อไป  

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ....

 โดยมีผู้ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นรวม 386 ราย เพื่อเข้าสู่กระบวนพิจารณาคัดเลือก โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) วันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจำนวน 175 ราย โดยแบ่งประเภทเชื้อเพลิงได้ดังนี้

1.พลังงานลม แบ่งเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 20 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,474.20 เมกกะวัตต์ (MW),ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 2 ราย ปริมาณ 16.00 MW รวม 22 ราย1,490.20 MW

2. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS): ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย ปริมาณ 994.06 MW 

3. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบ่งเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 39 ราย ปริมาณเสนอขาย 1,877.96 เมกกะวัตต์ (MW),ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) จำนวน 90 ราย ปริมาณ 490.04 MW รวม 129 ราย 2.360.00  MW  ส่วนกลุ่มก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ไม่มีผู้ได้รับจัดสรร

สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณา จำนวน 18 ราย 

โดย กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) วันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบ กกพ. สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 13 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 100 เมกะวัตต์

"การไฟฟ้าฯ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอบรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 ต่อไป โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการเลือก สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสหกรรม ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th ภายในวันที่ 5 เม.ย. 2565

ทั้งนี้ประเทศไทยคาดการณ์ว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะสูงขึ้นเป็น 70% ในปี 2550 ซึ่งเพิ่มจาก 30% ในปี 2020 ขณะที่สัดส่วนพลังงานทดแทนใน PDP 2022  ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์  4,500  MW ได้แก่ Floating Solar (กฟผ.) ,Solar Farm ,Solar Rooftop พลังงานลม1,500 MW โรงไฟฟ้าชีวมวล/โรงไฟฟ้าชีวภาพ 800MW โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 MW โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 200MWพลังงานน้ำ จากสปป.ลาว 2,700MW พลังงานน้ำขนาดเล็ก 50 MW รวม 10,150MW

การกำหนดเป้าหมายและแผนการทำงานที่ชัดเจนจะนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งระหว่างการเดินทางสู่ความสำเร็จย่อมมีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรับฟังและนำไปพิจารณาเพื่อให้แผนพลังงานทดแทนเป็นแผนสำหรับคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุน หรือแม้แต่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าคนใดคนหนึ่งก็ตาม