ตอนที่ 5: Green Washing ข้อมูลอันตราย ทำลายระบบนิเวศความยั่งยืน
ในบทความฉบับที่แล้วว่า “ข้อมูล ESG” มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องได้บริโภคข้อมูลที่เพียงพอ
โปร่งใส ตรงไปตรงมา และ “ไม่เกินจริง”
แต่ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล ESG ที่เกินจริง เพื่อฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Green Washing เริ่มเป็นที่ถกเถียงมากขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก จนกลายเป็นวาระที่ต้องหาแนวทางป้องกันก่อนที่จะกลายเป็นวัฒนธรรมฝั่งรากเข้าไปในระบบการเงินการลงทุนที่ใช้ข้อมูลเป็นสื่อกลางในการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน
การฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Green Washing คือ การเปิดเผยข้อมูลหรือข้อความที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินความเป็นจริง เพื่อหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไรบนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผมเชื่อว่าผู้บริโภคยุคนี้รับรู้ได้ว่าข้อมูลแบบไหนที่เน้นขายบนความรู้สึกคนมากเกินไป และเมื่อบริษัทประพฤติไม่เหมาะสมหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การรั่วไหลของน้ำมันใน Deepwater Horizon ของ BP หรือเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลคาร์บอนและการปล่อยมลพิษของ Volkswagen ก็ทำให้เห็นแล้วว่า Green Wash เป็นความเสี่ยงที่ลบทุกความเชื่อมั่นจากธุรกิจ จนสร้างอิมแพคต่อเงินในกระเป๋าบริษัท สอดคล้องกับงานสำรวจของ Harvard Business Review (HBR)[1] ที่แสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนได้เสียจะลงโทษธุรกิจโดยการไม่ลงทุนหรือไม่ซื้อสินค้า และตีตราบริษัทนั้นว่าเป็นธุรกิจ Green Washing หากบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายและเป้าหมายที่สัญญาไว้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่งผลเสียต่อทัศนคติทางสังคมที่มีต่อสินค้าและบริการของบริษัทในระยะยาว
ในมิติการลงทุน ข้อมูล ESG ไม่ใช่ผงซักฟอกธุรกิจให้ขาวสะอาดใส ที่ทำให้ท่านมั่นใจว่าธุรกิจเก่ง ดี และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตการลงทุนของท่าน การที่ทุกฝ่ายลุกขึ้นมาบอกให้ธุรกิจก็ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นด้านบวกและลบอย่างสมดุล โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นกลาง ยิ่งทับถมปัญหาการใช้ข้อมูล ESG ในการฟอกธุรกิจ
ขณะที่คนเปิดเผยข้อมูลก็มองเป็นดาบสองคม เพราะถ้าเปิดข้อมูลที่ลบเกินไป คนก็ไม่กล้าลงทุนเพราะเสี่ยงสูง แต่ถ้าเปิดข้อมูลที่เป็นบวกเกินไป คนก็ไม่กล้าลงทุนอีกเพราะเห็นข้อมูลแค่ด้านเดียว มิหนำซ้ำการมีกระบวนการตรวจสอบทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น ถ้าต้องเลือก ธุรกิจก็จะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่ทำได้ และรายงานแบบ propaganda “โปร ปะ กัน (โดน) ด่า” มากกว่า
เราต้องมาขบคิดกันว่าจะจัดการปัญหา Green Washing แบบไหนที่ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจและผู้บริโภคข้อมูล ผมอ่านแนวทางหลีกเลี่ยงปัญหาเบื้องต้น พบว่ามีหลากหลายวิธี เช่น การอ้างสิทธิ์ในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควรตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับของที่มาสินค้าได้ด้วย หรือบริษัทควรพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลของสินค้า บริการ หรือการดำเนินธุรกิจมีหน่วยงานหรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้รับรองข้อมูลที่เป็นวิชาการ เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัทเลือกได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลแบบไหนที่เป็นบวกต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้เอาประเด็นเรื่อง Green Washing ที่ผมเล่ามานี้ เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงองค์กรด้วย เพราะสุดท้ายการให้ข้อมูลแบบผิดๆ ของธุรกิจจะยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ถ้า “โลกรู้” อย่างที่เราเห็นตัวอย่างของบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศที่ทิ้งเครดิต “ชื่อเสีย” และกว่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ ก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเยอะแย่แล้ว
[1] HBR. How Greenwashing Affects the Bottom Line. Website: https://hbr.org/2022/07/how-greenwashing-affects-the-bottom-line