เปิดเหตุผลทำไม? ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไทยครึ่งปี 65 ถึงเพิ่มขึ้น

เปิดเหตุผลทำไม? ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไทยครึ่งปี 65 ถึงเพิ่มขึ้น

“พลังงาน” เผยเศรษฐกิจของประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น หนุนความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภาคพลังงานครึ่งปี 65  เพิ่มขึ้น 6.7%

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเภทพลังงาน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบดัชนีการปล่อยก๊าซคาร์บอนภาคพลังงานของประเทศไทยกับต่างประเทศพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อการใช้พลังงาน และอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า (kWh) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน)

สำหรับ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกของปี2565 อยู่ที่ 131.8  ล้านตันคาร์บอน ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้าลดลง สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานของประเทศในช่วงอดีตที่ผ่านมานั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่หลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจาก 145.5 ล้านตันคาร์บอน ในปี 2541 เป็น 263.4 ล้านตันคาร์บอนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0% ต่อปี สอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7% ต่อปี

ส่วนปี 2562 การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานอยู่ที่ 257.4 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาล จึงท่าให้การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานลดลงแม้ว่าจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2564 การปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานอยู่ที่ 244.0 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/2565 ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% เป็นผลกระทบจากส่งออกบริการเพิ่มขึ้นถึง 54.3% เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชน และการอุปโภคภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง

รวมทั้งภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงาน ดังนี้ ภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน 30% เพิ่มขึ้น 11.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ภาคอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.9% อยู่ที่ 63.8% ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน 5% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.1% ในขณะที่ ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุด 32% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิง โดยเชื้อเพลิงหลักที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า น้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงที่สุด 40% รองลงมา คือถ่านหิน/ลิกไนต์ 31% และก๊าซธรรมชาติ 29% ทั้งนี้ น้ำมันสำเร็จรูป มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.1% ถ่านหิน/ลิกไนต์ มีการปล่อยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น 9.8% ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 3.6%