เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero |  เขมาพัสส์ พูลสวัสดิ์

เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero |  เขมาพัสส์ พูลสวัสดิ์

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นที่ใกล้ตัว และส่งผลกระทบในวงกว้าง จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำทะเล ความรุนแรง และความถี่ของการเกิดภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้น

กระทบต่อสิ่งมีชีวิต ผลผลิตทางการเกษตร โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ ไปทั่วโลก และเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องให้ความสำคัญ และเร่งลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง 

แม้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำเพียงร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลกก็ตาม แต่ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวก็ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยเองได้มีเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608) 

สำหรับ Net Zero หรือ Net Zero Greenhouse Gas Emission เป็นการพิจารณาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยเฉพาะตัวหลักที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น

นอกจากความพยายาม "ลด" การปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่างๆ ที่สามารถทำได้แล้ว ยังต้องใช้มาตรการ "กำจัด" ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศด้วย

ขณะที่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คำนึงถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ เท่ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านวิธีการต่างๆ เป็นหลัก 

เส้นทางที่มุ่งสู่ Net Zero จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก นอกจากจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังต้องมีความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเทศด้วย โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน

การดำเนินงานของภาครัฐ: ภาครัฐถือเป็นภาคส่วนสำคัญซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแล และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง

หน่วยงานหลักที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

หน่วยงานเหล่านี้ มีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการเสริมพลังด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment: ACE) ทั้ง 6 ประเด็น ได้แก่ การศึกษา การฝึกอบรม การสร้างจิตสำนึก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ

เป็นที่น่าสนใจว่า การดำเนินของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีภารกิจงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง หากแต่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ

เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero |  เขมาพัสส์ พูลสวัสดิ์

หน่วยงานเหล่านี้มีการดำเนินงานรายสาขาที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการเสริมพลังด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACE) เช่น การสร้างจิตสำนึกและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านการจัดการพลังงาน การสร้างจิตสำนึก และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในด้านการจัดการของเสีย เป็นต้น การดำเนินการของหน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 

การดำเนินงานของภาคเอกชน: ภาคเอกชนนับเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายระดับประเทศ

ในปัจจุบันภาคเอกชนมีความตื่นตัวและมีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับที่แตกต่างกันไป โดยพิจารณาจากศักยภาพความพร้อม ประเภทธุรกิจ และขนาดขององค์กร

เป็นที่น่าสนใจว่าภาคเอกชน มีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization)  เพื่อวิเคราะห์แหล่งปล่อย และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ

วิธีการดังกล่าวมักปรากฏกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวต้องอาศัยงบประมาณในการดำเนินการสูง

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ จึงมีความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมระดับประเทศ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานขององค์กรอันนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนรวมของพนักงานในองค์กรรวมถึงประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก

เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero |  เขมาพัสส์ พูลสวัสดิ์

เช่น การลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การลดการใช้น้ำ การคัดแยกวัสดุที่ยังใช้ประโยชน์ได้ออกจากขยะอื่นๆ เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผาทำลาย เป็นต้น

การดำเนินของภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยมีการดำเนินโครงการร่วมกับหลายภาคส่วน

เช่น การลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

โดยเป็นการจัดทำแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการตัดสินใจคัดเลือกกิจกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมกับกำหนดมาตรการหรือแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่

1) มาตรการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้พลังงาน และ 2) มาตรการวิเคราะห์และประเมินเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก

ทั้ง 2 มาตรการนี้จะต้องพิจารณาจากความพร้อมในหลายๆ ด้าน นอกจากนี้ อปท. ยังดำเนินโครงการด้านการจัดการของเสีย เช่น การผลิตสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์ ทำให้ช่วยลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ในโครงการ Zero Waste ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม 

เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero |  เขมาพัสส์ พูลสวัสดิ์

การดำเนินงานของภาคประชาชน:  ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมนับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญต่อการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภาคประชาชนมีการเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยมีรูปแบบการดำเนินการ เช่น การจัดโครงการ การจัดอบรม การจัดเวทีเสวนา การจัดงานประชุม การจัดนิทรรศการ การจัดทำสื่อ เป็นต้น

นอกจากนี้ หลายๆ หน่วยงานยังมีการจัดทำฐานข้อมูล หรือการจัดทำ Mobile Application เพื่อรวบรวมและแสดงผลสถิติข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการในการเข้าถึงและรู้เท่าทันข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

    เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน

แต่ละภาคส่วนจะมีหน้าที่ และบทบาทแตกต่างกันไป สำหรับหน่วยงานภาครัฐนั้นจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จะมีส่วนสำคัญในการควบคุมกิจกรรมการผลิตไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการส่งเสริม และสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เส้นทางสู่เป้าหมาย Net Zero |  เขมาพัสส์ พูลสวัสดิ์

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนชุมชน และสนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของภาคประชาชนนั้น ก็มีบทบาทแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญโดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือกิจกรรมอันจะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้เมื่อทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ปัญหาและผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะได้รับการแก้ไขมากขึ้น อันจะนำไปสู่การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ของประเทศไทย และของโลกได้อย่างยั่งยืน 

สรุปสาระสำคัญจาก เอกสารแนวทางเพิ่มขีดความสามารถ และเสริมพลังด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จัดทำโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (กันยายน 2565)

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์