การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ความหวังปัจจัยบวกใหม่หนุนหุ้นจีน
จับตาการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนในวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 66 ถือเป็นครั้งแรกหลังโควิดที่นักลงทุนต่างรอคอย เพราะคาดหวังตลาดหุ้นน่าจะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญและแตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร ต้องติดตาม
หลังจาก ตลาดหุ้นจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 จากการยกเลิกมาตรการ Zero COVID ของรัฐบาลจีน จนมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนตลาดหุ้นจีนจะเริ่มซึมซับปัจจัยบวกดังกล่าวไปหมดแล้ว และเริ่มที่จะปรับตัวลดลง แต่ปัจจัยสนับสนุนใหม่ที่จะทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ คือ การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งการประชุมฯ ในครั้งนี้จะมีความสำคัญและแตกต่างจากการประชุมฯ ในครั้งก่อนๆ อย่างไร เราได้สรุปออกมาเป็น 6 ข้อ ดังนี้
1. เนื้อหาหลักในการประชุมคืออะไร?
การประชุมจะเป็นการที่สภาประชาชนของจีนฟังคำแถลงถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลจะประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ต่อสภาประชาชน รวมถึงเป้าหมายในการดำเนินนโยบายด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้น่าจะมีการประกาศนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายการฟื้นตัวหลังจากยกเลิกมาตรการ Zero COVID
นอกจากนี้ ในการประชุมจะมีการแต่งตั้งผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานที่ทำหน้าที่คอยกำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุนของจีน
2. ทำไมการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ จึงสำคัญในปีนี้?
ย้อนกลับไปตั้งแต่ การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ว่ากันว่าเป็นการยืนยันการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของ สี จิ้นผิง ที่ทำให้ตนเองกลายมาเป็นผู้นำจีนที่มีอำนาจสูงที่สุดนับตั้งแต่ เหมา เจ๋อตุง เป็นต้นมา โดย สี จิ้นผิง แต่งตั้งบุคคลที่เข้ามาอยู่ใน คณะกรรมการโปลิตบูโร ชุดใหม่ที่ล้วนแล้วแต่เคยทำงานร่วมกันมา ทำให้มีหลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า สี จิ้นผิง จะรวมอำนาจการบริหารทั้งหมด โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากฝ่ายที่เห็นต่าง
3. บุคคลใหม่ที่จะขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญๆ มีใครบ้าง?
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีของนายหลี่ เค่อเฉียง และนายหลิว เหอ คาดว่าจะถูกทดแทนโดยคนสนิทของ สี จิ้นผิง คือนายหลี่ เฉียง ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนายเหอ ลี่เฟิง ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ส่วนตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือ PBoC คาดว่า นายอี้ กัง จะลงตำแหน่งเช่นเดียวกัน และจะถูกแทนที่โดยนายจู เหอซิน ที่เคยมีประสบการณ์ในภาคธนาคารมาอย่างยาวนาน
4. อะไรคือเป้าหมายหลักของรัฐบาลชุดใหม่?
แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่คือ การทำให้ เศรษฐกิจจีน พลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้หลังจากต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์เพื่อควบคุม COVID-19 มาอย่างยาวนาน โดยหลังจากอัตราการเติบโตของ GDP จีนต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ในปีนี้หลังจากที่จีนตัดสินใจกลับมาเปิดประเทศนอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว การทำให้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นไม่ลุกลามไปมากกว่านี้จนกระทั่งส่งผลให้เกิดปัญหากระทบไปยังภาคการเงินถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ นอกจากนี้อีกหนึ่งนโยบายที่จีนน่าจะให้ความสำคัญคือ การมุ่งเน้นไปที่การลงทุนและบริโภคในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อชดเชยปัญหาจากภายนอกทั้งการที่อุปสงค์โลกหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ
ด้านนโยบายในระยะยาว จีนอาจมีการพูดถึงการทำให้รายได้ของประชากรเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาจำนวนประชากรที่เริ่มลดลงและมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นเพื่อที่จีนจะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
5. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง?
การเปลี่ยนแปลงนโยบาย Zero COVID อย่างกะทันหันทำให้ความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลถูกตั้งคำถาม ซึ่งก่อนหน้าที่จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ประชาชนจีนเริ่มออกมาแสดงความเห็นและแสดงความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น ส่วนในด้านต่างประเทศความขัดแย้งกับสหรัฐ ยังถือเป็นปัญหาสำคัญและดูเหมือนจะแย่ลงไปอีกเมื่อมีปัญหาบอลลูนสอดแนมเกิดขึ้น นอกจากนี้ความสัมพันธ์กับรัสเซียอาจเริ่มถูกจับตาจากหลายประเทศทั่วโลกมากยิ่งขึ้น
6. การประชุมครั้งนี้ต่างกับการประชุมในครั้งก่อนๆ อย่างไร?
การประชุมในครั้งนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งในสัญลักษณ์ที่รัฐบาลจีนแสดงให้เห็นว่า การใช้ชีวิตในจีนกลับมาเป็นปกติหลังจากต้องเผชิญมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 3 ปี และการประชุมใน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2020 2021 และ 2022 จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นกว่าปกติโดยใช้เวลาเพียงราว 1 สัปดาห์ โดยในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะกลับมาใช้ระยะเวลาปกติในการประชุมคือยาวนานมากกว่า 1 สัปดาห์
ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของดัชนี CSI300 2 สัปดาห์ก่อนจนถึง 2 สัปดาห์หลังการประชุม
ที่มา : Wind, UBS-S
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ตลาดหุ้นจีน ในอดีต บทวิจัยจาก UBS ระบุว่า ตลาดหุ้นจีน A-Shares ดัชนี CSI300 มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า และ 2 สัปดาห์หลังการประชุม ส่วนในครั้งนี้ตลาดหุ้นน่ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับในอดีตที่ผ่านมา หากว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศออกมาไม่ได้สร้างความผิดหวังให้กับตลาดจนมากเกินไปนัก
ที่มา : Bloomberg, UBS
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0-2633-6000 กด 4, 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds