จับตา 4 ปัจจัยกระทบราคาน้ำมัน

จับตา 4 ปัจจัยกระทบราคาน้ำมัน

จับตา 4 ปัจจัยหลัก หลังทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากหลายเหตุการณ์ ทั้งการขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ

ราคาน้ำมันดิบ ได้รับปัจจัยบวกจากการที่ กลุ่ม OPEC+ ตกลงเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ขยายเวลาลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ จากเดิมถึงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เป็นไตรมาสที่ 2 นำโดยซาอุดีอาระเบียที่ยังลดการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน, รัสเซียลด 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเทศสมาชิกอื่นอีก 0.2-0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจะตึงตัวขึ้น โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันปี 2567 เพิ่มขึ้นเพียง 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 102.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนั้น อุปทานน้ำมันดิบมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งของอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยกลุ่มกบฏฮูตี ผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาสโจมตีเรือสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันที่มีความสัมพันธ์กับอิสราเอล อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรได้ตอบโต้เพื่อให้การเดินเรือปลอดภัยขึ้น ส่วนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังจากรัสเซียรุกไปในยูเครนมากขึ้น และยูเครนตอบโต้โดยส่งโดรนโจมตี โรงกลั่นน้ำมัน หลายแห่งของรัสเซีย 

ด้านอุปสงค์ IEA เพิ่มคาดการณ์การอุปสงค์ น้ำมันดิบโลก ปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมเป็น 103.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดือนที่ผ่านมา 1 แสนบาร์เรลต่อวัน มีปัจจัยจากแนวโน้มอุปสงค์ในประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แม้มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูง แต่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย และคาดว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 7.0% สูงกว่าคาดการณ์ทำให้มองว่าความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น

สรุป 4 ปัจจัย ที่น่าจับตามองระยะนี้ ที่มีผลต่อราคาน้ำมัน ดังนี้

  1. การเคลื่อนไหวของปริมาณสำรองน้ำมันดิบหลังจากกลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาลดกำลังการผลิต
  2. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีแนวโน้มต่อเนื่อง โดยประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน ชนะเลือกตั้งอีกสมัย ทำให้ความขัดแย้งยังดำเนินต่อ
  3. แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย
  4. การซื้อคืน น้ำมันดิบ เข้าสู่คลังสำรองทางยุทธศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา