กลยุทธ์แก้ "เงินบาทอ่อนค่า" ในสถานการณ์โควิด-19 | ชวลิต พิชาลัย

กลยุทธ์แก้ "เงินบาทอ่อนค่า" ในสถานการณ์โควิด-19 | ชวลิต พิชาลัย

จากข้อมูลที่รายงานเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนของ 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย พบว่าเงินบาทอ่อนค่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐถึงร้อยละ 8.5

วารสาร The Economist ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูล ณ วันที่เดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าเงินบาทของประเทศไทยอ่อนค่าสูง รองลงมาคือประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ร้อยละ 6.4, 3.1, 2.5, และ 0.8 ตามลำดับ 

สาเหตุที่ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงมีสาเหตุสำคัญจากรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมาก และประเทศไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมาก จะกระทบต่อฐานะดุลการชำระเงินและการนำเข้าสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น และกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อของประเทศ 

ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรเพื่อหยุดยั้งปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อนตัว กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหานี้ที่ทำน้อยได้มาก และเหมาะสมกับประเทศไทยในสถานการณ์โควิด 19 มีดังนี้

1.ควรเน้นนโยบายส่งเสริมการส่งออกแบบเจาะจงและมุ่งเป้า มากกว่าจัดทำนโยบายแบบทั่วไป โดยควรจัดแบ่งยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออก ออกเป็นการปฏิบัติ 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับยุทธศาสตร์เน้นวิธีการ 2)ระดับยุทธการเน้นการปฏิบัติการ และ 3) ระดับยุทธวิธีเน้นขั้นตอนปฏิบัติ กำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดความเร่งด่วนของกิจกรรม และการแบ่งมอบทรัพยากรทั้ง คน, งบประมาณ, อุปกรณ์ และวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ภายใต้งบประมาณของรัฐที่จำกัดภายใต้สถานการณ์โควิด 19

2.ควรส่งเสริมนโยบายลดการนำเข้าสินค้าไม่จำเป็น ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้เองทดแทนการนำเข้าในลักษณะนิยมไทย โดยให้เน้นการจ้างงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหลัก ประการสำคัญ สินค้าไทยต้องได้มาตรฐานด้านการรับรองคุณภาพ เช่น ได้รับฉลาก สมอ. หรือผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นต้น 

เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเกิดการหมุนเวียนและสร้างการจ้างงาน เกิดผลกระทบตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier Effects) ผ่านการลงทุนเพิ่มห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ให้เกิดการหมุนรอบของรายได้ให้มากที่สุด 

อัตราแลกเปลี่ยน 5 ประเทศในอาเซียน

ตัวอย่างที่สนับสนุนเหตุผลให้ส่งเสริมนโยบายทดแทนสินค้านำเข้า ในกรณีของหลอดฟลูออเรสเซนซ์แบบ LED หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน เช่น ปลั๊กไฟและเต้าเสียบ ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิต แต่ผู้ผลิตสินค้าไทยสู้จีนไม่ได้ เพราะจีนสามารถประหยัดต้นทุน จากการผลิตสินค้าจำนวนมากและเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) เป็นต้น 

กลยุทธ์แก้ \"เงินบาทอ่อนค่า\" ในสถานการณ์โควิด-19 | ชวลิต พิชาลัย

ดังนั้น หากไทยมีนโยบายทดแทนการนำเข้าในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน แม้ว่าอาจจะขัดกับนโยบายของ WTO ในเรื่องการค้าเสรี แต่รัฐบาลต้องหาวิธีการเจรจาขอยกเว้นชั่วคราวในระยะ 3-5 ปี เพื่อคลี่คลายปัญหาการจ้างงาน และการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ให้มีงานทำและผ่านพ้นไปได้ในระยะสั้น

3.ควรทำนโยบายควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Green House Effect) เช่น ในภาคพลังงาน รัฐมีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% แทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบางชนิด เช่น จากชีวมวลที่ไทยมีศักยภาพด้านเชื้อเพลิงจำนวนมาก และเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากวิธีการลดการเผาในที่โล่ง และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเก็บวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยใช้กลไกความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างภาครัฐ เอกชนและชุมชน 

ในกรณีที่จำเป็น รัฐสามารถทำได้ด้วยการให้ส่วนเพิ่มพิเศษ (Premium) ในค่าไฟฟ้าประเภท Feed in Tariff เพื่อจูงใจให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาเผาในเตาของโรงไฟฟ้าแทนการเผาในที่โล่ง เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ซ้ำซากทุกปี สร้างการจ้างงาน สร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ชาวไร่และชาวนาไทยในการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือยังสามารถเพิ่มรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย

4.ด้านส่งเสริมการวิจัยเชิงพาณิชย์ จากคำถามที่เป็นข้อสังเกตโดยทั่วไปว่า ผลงานวิจัยไทยส่วนใหญ่ขึ้นหิ้ง มิได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าคุณภาพงานของนักวิจัย ไทยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีหรือดีมาก พร้อมที่จะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ 

แต่ปัญหาอุปสรรคที่เป็นคอขวดคือ ไทยไม่มีการจัดทำโรงงานต้นแบบนำร่อง (Pilot Plant) ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ โดยโครงการจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้น หากรัฐแก้ไขปัญานี้ได้จะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนโครงการ และสร้างการยอมรับจากภาคเอกชนให้พร้อมที่จะนำผลการวิจัยไปลงทุนเชิงพาณิชย์ในโครงการต่างๆ

5.ด้านนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ควรเน้นการท่องเที่ยวในประเทศและส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งเสริมการผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชน และกระตุ้นการจ้างงาน 

กลยุทธ์แก้ \"เงินบาทอ่อนค่า\" ในสถานการณ์โควิด-19 | ชวลิต พิชาลัย

รัฐควรเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อขอความร่วมมือกับสถานีจำหน่ายน้ำมัน ห้างสรรพสินค้าทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์โครงการไทยช่วยไทย มีศูนย์กลางในการประสานงานระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้ประสบผลสำเร็จในทุกพื้นที่และทุกด้านที่ชุมชนขาดแคลน 

เช่น ด้านการเงิน ด้านความรู้ทั้งการผลิตและการขายสินค้า ทั้งที่ตลาดของชุมชนและช่องทางออนไลน์ การโฆษณาและการส่งเสริมการขายในลักษณะบริการแบบครบวงจร เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นรูปธรรม 

ในส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลานี้ น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจจะมีการกลายพันธุ์ และนำไปสู่การแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

6.ผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้มูลค่าการนำเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นจาก 54.77 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล ในเดือนมกราคม 2564 เป็น 73.19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม 2564 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 ต่อเดือน 

อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว สถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย และโอเปคมีวินัยการควบคุมระดับการผลิตให้อยู่ในเป้าหมาย อย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบได้เพิ่มขึ้นไปอีกถึงประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

โดยอยู่ในระดับประมาณ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในวันที่ 12 มีนาคม  2565 จะส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้น และจะกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง 

กลยุทธ์แก้ \"เงินบาทอ่อนค่า\" ในสถานการณ์โควิด-19 | ชวลิต พิชาลัย

ในกรณีสงครามยืดเยื้อ ค่าเงินบาทในเดือนมีนาคม 2565 น่าจะไม่น้อยกว่า 33.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะกระทบต่อค่าเงินเฟ้อของไทยให้สูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัสเซียต้องพึ่งพางบประมาณ ที่มาจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบถึงร้อยละ 53.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คาดการณ์ได้ว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนน่าจะยุติโดยเร็วและไม่น่าจะยืดเยื้อ

 กลยุทธ์การประหยัดพลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้า จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และคนไทยทุกคนควรให้ความร่วมมือกับภาครัฐประหยัดพลังงานให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของภาวะปกติ ใช้เท่าที่จำเป็น

เพราะนอกจากช่วยชาติประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของทุกคนในการใช้จ่ายเพื่อซื้อน้ำมันอีกด้วย.