เหตุใดไม่มีเครื่องเจาะเลือด | วรากรณ์ สามโกเศศ

เหตุใดไม่มีเครื่องเจาะเลือด | วรากรณ์ สามโกเศศ

คงมีน้อยคนที่ไปเจาะเลือดแล้ว จะไม่มองหน้าหาความมั่นใจจากคนเจาะว่า จะทำได้สำเร็จโดยไม่ต้องวุ่นวายควานหาเส้นเลือดจนช้ำไปหมด หลายคนเช่นผู้เขียนคงนึกว่ามันน่าจะมีเครื่องมือเล็กๆ ที่ช่วยหาเส้นเลือดและเจาะอย่างแผ่วบรรจง

หลังจากได้พยายามติดตามเรื่องนี้ก็พบว่ายังไม่มีเครื่องมือที่ช่วยควานหาและเจาะเส้นเลือดใช้กัน     ทั้งๆ ที่คิดค้นสำเร็จแล้ว      แต่ยังหาผู้ลงทุนรายใหญ่และผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำไม่ได้    ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ    แต่ถ้าพิจารณาดูเครื่องมือฉีดยาที่มีมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้วก็พอเข้าใจได้    ทั้งหมดนี้มีแง่มุมที่น่าพิจารณา
    ข้อมูลที่นำมาขยายความวันนี้มาจากนิตยสาร Discover ฉบับ July/August 2021  โดย Jonathon Keats จึงน่าเชื่อถือได้ในเรื่องที่ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้    เหตุใดเครื่องมือฉีดยาจึงไม่มาแทนที่คนฉีดยา ?     เหตุใดคนจึงนิยมกินปลาดุกอุยรัสเซียที่มีรสชาติสู้ปลาดุกอุยนาไม่ได้เลย ?    เหตุใดกรณีของถุงใส่ใบชาเพื่อการบริโภคสำเร็จรูปจึงมีคนนิยมถุงแบบเดิมทั้งที่มีถุงแบบใหม่ที่ดึงเชือกแล้วบีบน้ำชาออกได้อีก ?    ทั้งสามเรื่องมีคำอธิบายเดียวกัน

การเจาะเลือดผู้สูงอายุ    เด็กเล็ก ๆ โดยเฉพาะทารก   หรือผู้มีเส้นเลือดที่มองเห็นไม่ชัดเพราะความย่นของผิวหนังเป็นเรื่องปวดหัวของคนเจาะเป็นอย่างยิ่งโดยคนถูกเจาะเองก็ไม่รู้ว่ากำลังจะเจ็บตัว    การเจาะเลือดเพื่อเอาไปตรวจ หรือเพื่อให้ของเหลวเช่นน้ำเกลือหรือยาเข้าร่างกายมีมานานและก็เจาะกันแบบที่เราเห็นกันนี้มากว่า 100 ปีแล้วโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก
    ในยุคทศวรรษ 1970 automation หรือการทำงานอย่างอัตโนมัติเกิดในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์โดยการใช้หุ่นยนต์    ในปี 1985 มีการปรับใช้แขนหุ่นยนต์ผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อจากสมองมาตรวจเป็นครั้งแรก  แต่ต้องใช้เวลาอีก 15 ปี จึงเริ่มมีการใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการผ่าตัด ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ผ่าตัด (ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ยี่ห้อ da Vinci ของอเมริกา   เมืองไทยเข้าใจว่ามีอยู่ 6-7 ตัว) ซึ่งใช้กันแพร่หลายโดยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนภายใต้การควบคุมของแพทย์   ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ผ่าตัดมากเพียงใด    แต่เครื่องมือกึ่งหุ่นยนต์สำหรับเจาะเลือดก็ยังไม่เกิดขึ้น
    ในปี 2010 หุ่นยนต์เจาะเลือดเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น   มีการออกแบบเครื่องมือที่เรียกว่า venipuncture (ภาษาเทคนิคซึ่งเกี่ยวพันกับวิธีการเจาะเข็มเข้าไปในเส้นเลือด) เพื่อเจาะเลือดอย่างสะดวกและปลอดภัย      การเจาะเลือดเริ่มต้นด้วยการใช้แอลกอฮอร์ฆ่าเชื้อโรคทาบริเวณที่เจาะเพราะเมื่อเข็มกดผิวหนังลงไปเป็นรูนั้นอาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนังหลุดรอดเข้าไปในร่างกายได้

หากการเจาะไม่เป็นไปอย่างปกติเพราะหาเส้นเลือดได้ลำบากก็ต้องพยายามเจาะหลายครั้งหรือชอนไชหาเส้นเลือดก็อาจนำไปสู่ปัญหาการติดเชื้อ      เกล็ดเลือดแข็งตัวจนอาจไปอุดตันเส้นเลือด  หรือทำลายเส้นประสาทได้     นอกจากนี้คนฉีดอาจถูกเข็มจิ้มตัวเองก็เป็นได้ในกรณีฉุกเฉินหรือคนถูกเจาะดิ้น ดังนั้นการมีหุ่นยนต์เจาะเลือดจึงเป็นคำตอบ

เหตุใดไม่มีเครื่องเจาะเลือด | วรากรณ์ สามโกเศศ
    การสร้างเครื่องมืออาศัยการทำงานร่วมกันของ sensors (ชิ้นส่วนหรือเครื่องมือเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและส่งข้อมูลกลับ) กับหุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ   มีการเอาเทคโนโลยีค้นหาภาพมาใช้หาเส้นเลือดโดยใช้ทั้งอินฟราเรดและอัลตร้าซาวด์    ในที่สุดก็ได้เครื่องมือขนาดเล็กที่ถือติดตัวได้และมีขนาดพอที่จะวางบนแขน วิธีการคือหุ่นยนต์จะหาเส้นเลือดโดยอัตโนมัติด้วยการใช้ AI และเทคโนโลยีการหาภาพ      เมื่อเจาะได้เลือดมาแล้วหุ่นยนต์ก็จะนำมาบรรจุในหลอดพร้อมน้ำยาผสมหากจำเป็น    พร้อมที่จะส่งห้องแล็บ
    ขณะนี้มีเครื่องมือต้นแบบที่ทำงานได้จริง ๆ แต่ยังต้องผ่านการทดลองกับมนุษย์จำนวนมากว่าปลอดภัยและใช้ได้ผลจริงซึ่งเป็นตรวจสอบขององค์กร FDA ของสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะนำออกมาใช้และขายได้     มีนักลงทุนหลายรายสนใจประดิษฐกรรมชิ้นนี้แต่ยังไม่มีการตกลงเป็นเรื่องเป็นราว
    เหตุใดมันจึงไม่ได้รับความนิยมเหมือนยาหรือสารพัดวัคซีนในยุคโควิด  คำตอบง่าย ๆ ก็คือเพราะมันมีลักษณะของการทดแทนได้สูง   สิ่งทดแทนเครื่องมือนี้ก็คือมนุษย์ที่สามารถเจาะเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีปกติโดย      ทำได้เร็ว   นิ่มนวล  ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อเครื่องมือซึ่งน่าจะมีราคาสูง และแย่งงานไปจากพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์

    ปลาดุกอุยนานั้นมีรสชาติดีมาก แต่ราคาประมาณกิโลกรัมละ 70-80 บาท    ในขณะที่ปลาดุกอุยรัสเซียซึ่งเป็นลูกผสมของปลาดุกยักษ์กับปลาดุกอุยนานั้นมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 30-40 บาท      ผู้บริโภคส่วนใหญ่มิได้มุ่งบริโภคอาหารที่เป็นเลิศมีราคาแพง      หากยินดีบริโภคของราคาถูกที่มีรสชาติด้อยลงมาทดแทนกัน      เราจึงเห็นการบริโภคปลาดุกอุยรัสเซียทุกหนแห่งอย่างท่วมท้น ไม่มีการบริโภคปลาดุกอุยนาซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าอย่างเดียว

เหตุใดไม่มีเครื่องเจาะเลือด | วรากรณ์ สามโกเศศ
    ในเรื่องถุงชาก็เช่นเดียวกัน    ในอังกฤษมีการผลิตถุงชาแบบที่ดึงเชือกแล้วรัดถุงจนมีน้ำชาออกมาได้อีก  ถึงแม้ถุงนวัตกรรมนี้จะมีราคาแพงกว่าถุงชาดั้งเดิมเพียงเล็กน้อย     แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเพราะผู้บริโภคไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้ถุงชาแบบใหม่   ผู้คนก็ยังใช้ถุงชาแบบเดิมอยู่
    เครื่องฉีดยาที่คล้ายปืนก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าเข็มฉีดยา    กรณีนี้ก็เช่นกันมีการทดแทนกับการใช้เข็มฉีดยาโดยคน  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการฉีดยาแบบปกติ    ยังเป็นที่นิยม  เครื่องฉีดดูไม่จำเป็นเพราะเทอะทะ   มีราคาแพงกว่าหลอดและเข็มที่ใช้แล้วทิ้งได้เลย
    อย่างไรก็ดีในยุคหลังโควิดเครื่องเจาะเลือดดังที่กล่าวมานี้อาจแหก “กฎทดแทน” ก็เป็นได้  ในบางกรณีที่เจาะยาก คนที่เจาะไม่อาจทำงานแทนเครื่องมือได้ดี   นอกจากนี้ประชาชนยังมีความต้องการสูงในการฉีดสารพัดวัคซีนและคาดหวังในนวตกรรมอื่น ๆ ในการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวกับการเจาะเลือดเพราะตนเองมี health literacy (ความฉลาดรู้ในเรื่องสุขภาพ) สูงขึ้น     ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเครื่องเจาะเลือดนี้อาจเป็นสิ่งที่ใช้กันเป็นปกติได้ในอนาคตอันใกล้  
    เรื่องเที่เราเห็นว่ามันเป็นของชัวร์น่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายก็อาจไม่จริงเสมอไปหากคำนึงถึงดีกรีของการทดแทนกับสิ่งอื่น     อย่างไรก็ดีเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป    สิ่งที่ว่าเป็นไปไม่ได้ก็อาจเป็นได้โดยเฉพาะในโลกยุคหลังโควิดที่สาธารณสุขและการแพทย์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์มากยิ่งขึ้น.