โลกร้อน กับ การเปิดเผยข้อมูลของบริษัท

โลกร้อน กับ การเปิดเผยข้อมูลของบริษัท

นอกเหนือภัยจากโควิดแล้ว หลายๆ ประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนเป็นประวัติการณ์

         มีหน่วยงานของสหรัฐประกาศออกมาว่าเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของโลกตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูล หรือฝนตกอย่างหนักที่นำไปสู่น้ำท่วมอย่างรวดเร็วและรุนแรง ประจวบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานจากหน่วยงานของสหประชาชาติ (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ออกมาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

        รายงานนี้ระบุชัดเลยว่าถ้าไม่มีมาตรการที่ชัดเจนและเห็นผลอย่างรวดเร็วออกมา การดูแลไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (หรือแม้กระทั่ง 2 องศา) ก็แทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

        การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศานั้น จะทำให้มีคลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมโลกมากขึ้น ฤดูร้อนจะยาวนานขึ้น ส่วนฤดูหนาวจะสั้นลง และถ้าขึ้นไปถึง 2 องศานั้นก็จะเป็นจุดที่ส่งผลกระทบต่อทั้งการเพาะปลูก เกษตรกรรมและสุขภาพของคน นอกจากจะนำไปสู่สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นแล้ว การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกยังส่งผลต่อวัฏจักรของน้ำในโลก ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นนำไปสู่ภาวะน้ำท่วม ขณะเดียวกันในบางภูมิภาคก็จะประสบกับภัยแล้ง อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ยังทำให้ธารน้ำแข็งต่างๆ ละลายอย่างรวดเร็วรวมทั้งน้ำแข็งตามขั้วโลก ระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้น ส่งผลต่อพื้นที่และชุมชนชายฝั่งทะเลและประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

        รายงานดังกล่าวเน้นย้ำว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำของมนุษย์อีกเช่นเดียวกันที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่างๆ

        ที่ผ่านมาในต่างประเทศ ประชาชนตื่นตัวดูแลอุณหภูมิของโลกกันมาพอสมควร เช่น ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้งดการเดินทางด้วยเครื่องบินไปที่ต่างๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี (ถึงแม้เมื่อสถานการณ์โควิดในบางประเทศเริ่มคลี่คลาย)

ถึงแม้การบินจะมีผลต่อแค่ 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่สำหรับคนหนึ่งคนแล้ว ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการบินถือเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การบินจากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน (เที่ยวเดียว) สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคนแล้ว เป็นการปล่อย 394 กิโลกรัมของคาร์บอน ซึ่งต่อให้มีความพยายามในการทดแทนด้วยการเดินแทนการขับรถไปทำงานและงดทานเนื้อสัตว์ทั้งเดือน ก็ยากที่จะทดแทนปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยจากการบินได้

        ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้เริ่มมีความคิดในหน่วยงานกำกับหลายแห่งของอเมริกาแล้ว ที่จะให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ สู่สาธารณชนให้มากขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันบริษัทต่างๆ จะมีการทำรายงานเพื่อความยั่งยืนและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมกันแล้ว แต่ก็เหมือนจะยังไม่เพียงพอ

        เริ่มมีข้อเรียกร้องให้เปิดเผยมากและลึกขึ้น ทั้งลงเป็นรายผลิตภัณฑ์ เช่น การได้มาซึ่งน้ำอัดลมหนึ่งลิตรมีการปล่อยคาร์บอนเท่าใด? รวมทั้งให้เปิดเผยข้อมูลถึงกลุ่มที่เรียกว่า Scope 3 ด้วย (ปัจจุบันบริษัทเปิดเผยเฉพาะข้อมูลของ Scope 1 & 2 นั้นคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัท และการซื้อพลังงานของบริษัท) ใน Scope 3 นั้นจะครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลทางอ้อมจากบริษัท อาทิเช่น จากพนักงาน (การเดินทางของพนักงานมาทำงาน) หรือ Suppliers หรือลูกค้าเป็นต้น

        ถ้าหน่วยงานกำกับ สามารถออกกฎให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ลึกและมากขึ้นจริง จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมของบริษัทมีความชัดเจนและลึกมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ดีความท้าทายสำคัญสุดคือความเที่ยงตรง แม่นยำของข้อมูลต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันเกณฑ์และมาตรวัดต่างๆ ก็ยังไม่มีมาตรฐาน และยังไม่มีหน่วยงานภายนอกมาตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลเหมือนกับทางการบัญชีและการเงิน

        ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เรื่องของการดูแลโลกเป็นแนวโน้มที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นแน่ๆ และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ คน อีกทั้งยังเป็นโอกาสและข้อจำกัดสำหรับธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วย.