ตัวอย่างการจัดการวิกฤติ ของรัฐบาลไต้หวัน

ตัวอย่างการจัดการวิกฤติ ของรัฐบาลไต้หวัน

วิกฤติจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่นอกจากจะส่งผลกระทบในเชิงสาธารณะสุขทั่วโลก ยังส่งผลในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก

องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคนี้เป็นโรคระบาดร้ายแรง หลายประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรปเริ่มได้รับผลกระทบอย่างหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจกรรม ห้างร้านถูกปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก

ภายในวิกฤติที่มีความกลัว ความตื่นตระหนก การขาดความรู้ความเข้าใจในไวรัสและการป้องกัน ข่าวปลอม ภายใต้ความสับสนอลหม่านทั้งปวงนี้ ต้หวัน ถือเป็นดินแดนแนวหน้าที่ได้รับการชื่นชมว่าจัดการวิกฤติได้ดีเยี่ยม ซึ่งวันนี้ ผมอยากจะมาเล่าให้ฟังถึงการประยุกต์ความทันสมัยของเทคโนโลยีเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหา

ผมเคยเล่าให้ฟังถึงการกระจายหน้ากากอนามัยเปรียบเทียบกับของประเทศต่างๆ ซึ่งไต้หวันทำได้ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรกว่า 24 ล้านคน เพราะผู้นำไหวตัวตั้งรับปัญหาได้เร็ว มีการออกมาตรการควบคุมหน้ากาก ห้ามส่งออก อัดฉีดเพิ่มจำนวนหน้ากากเข้าไปในระบบเพื่อให้กลไกตลาดทำงานในการรักษาระดับราคา และที่สำคัญคือการแจกหน้ากากแก่บุคลากรที่จำเป็น ที่ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการจัดการปัญหา คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่มีแนวโน้มสัมผัสกับนักเดินทางจากต่างประเทศ

การรับมือวิกฤติที่มีประสิทธิภาพของผู้นำไต้หวันทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก และหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลใช้คือเทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรับมือวิกฤติ ภายใต้การนำของออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลซึ่งเป็นสตรีข้ามเพศอายุ 38 ปี

แอพพลิเคชั่นการกระจายหน้ากาก ทำให้ประชาชนทราบว่าที่ร้านค้าใดบ้างที่ยังมีหน้ากากเหลือขาย และเพราะจำนวนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจากบางแหล่งข่าวอ้างถึงจำนวน 10 ล้านชิ้นต่อวัน การกำหนดราคา มาตรการจำกัดการส่งออกและจำกัดโควตาของผู้ซื้อ 3 ชิ้นต่อสัปดาห์ ทำให้ไม่เกิดภาวะหน้ากากขาดตลาด และแอพพลิเคชั่นก็ทำให้ประชาชนทราบว่าสามารถหาซื้อได้จากที่ไหนบ้าง

นอกจากนี้แล้วการกระจายหน้ากากไปยังสถานที่ต่างๆรายย่อยยังเป็นการดีกับการควบคุมโรคเพราะหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของชุมนุมชนซึ่งมีโอกาสการแพร่กระจายไวรัสได้

ในเชิงนโยบาย รัฐบาลไต้หวันทำหน้าที่ประสานอำนวยความสะดวกและส่งเสริมผู้ประกอบการและนักเทคนิคที่สร้างแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์ เป็นตัวกลางประสานงานกับบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิล เพื่อลดค่าใช้จ่ายแอพพลิเคชั่นและการสนับสนุนในทางเทคนิค เป็นตัวประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อและประชาชนในการใช้แอพพลิเคชั่น

นอกจากแอพพลิเคชั่นกระจายหน้ากากแล้ว การจัดการรับมือวิกฤติภายใต้ภาระรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลของออเดรย์ ถังนี้ถือเป็นการทำงานเชิงรุก อาทิ การสร้างแผนที่และสถานที่ที่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจากเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส เคยเดินทางไปเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงและง่ายต่อการบริหารจัดการ

หน้าที่หลักของผู้นำรัฐบาล กระทั่งรัฐมนตรีไต้หวันนั้นกลับไม่ใช่การมือไม้เข้ามาแก้ปัญหาโดยตรง แต่เป็นการใช้ปัญญา อำนาจรัฐ พื้นที่สื่อและทรัพยากรที่มี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจที่เป็นประโยชน์ในช่วงวิกฤติ มองวิเคราะห์ปัญหาและออกกฎเกณฑ์มาตรการในเชิงรุกเพื่อให้สังคมไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ซื่อสัตย์จริงใจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และทำหน้าที่เป็นผู้นำของคนทุกคนเพื่อประสานสามัคคีให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตินี้ได้