เส้นทางสายไหม ยุคโบราณและยุคกลาง ตอนที่ 5

เส้นทางสายไหม ยุคโบราณและยุคกลาง ตอนที่ 5

ศตวรรษที่ 5-8 เป็นยุคทองของเส้นทางสายไหม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการค้า

 เช่น เทคโนโลยีการขุดบ่อลึกๆ การส่งน้ำทางคลองทำให้ผ่านโอเอซิสในแถบทะเลทราย สามารถเกิดเมืองและเติบโตได้ (เช่น ทางตะวันตกของอินเดียและอัฟกานิสถาน) ผลที่ตามมาก็คือ พื้นที่การชลประทานเพื่อการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น สามารถดูแลเลี้ยงประชากรและผู้เดินทางที่เพิ่มมากขึ้นได้ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคซึ่งรัฐ ศาสนา และไหม (แม้จะมีสินค้าอื่น ๆ) สัมพันธ์ร้อยรัดกันอย่างแน่นแฟ้น 

เมื่อพูดถึงไหมเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่กล่าวถึงจีน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา แม้ประเทศอื่นๆ จะมีอุตสาหกรรมทอไหม แต่จีนยังเป็นผู้ผลิตสิ่งทอไหมหลักของโลก เมื่อพูดถึงไหมคุณภาพสูง โดยเฉพาะเส้นใยไหม ตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรฮั่นในศตวรรษที่ 3 ความวุ่นวายยุ่งเหยิงทางการเมืองไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและการค้าไหม ไหมมีความสำคัญในฐานะเป็นเงิน เป็นสื่อกลางแห่งการแลกเปลี่ยน มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา พร้อมๆ กับการเติบโตในทุกๆ มิติของศาสนาพุทธ ศตวรรษที่ 5-6 ล้วนทำให้เครือข่ายการค้าบนถนนสายไหมเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมไหมและการค้าไหมในแถบยูเรเซีย 

การเปลี่ยนแปลงในจีนหลังราชวงศ์ฮั่นประมาณ 400 ปีถึงระยะแรกของราชวงศ์สุย การเข้ามาในจีนของชนเผ่าเร่ร่อนทางเหนือสร้างแรงกดดันให้มีการอพยพของคนจีนลงไปทางใต้มากขึ้น เกิดพัฒนาการและวัฒนธรรมสินค้าไหมลงไปทางใต้ของจีน รัฐบาลจีนก็ส่งเสริมการปลูกและวัฒนธรรมไหม ในจีนก็เหมือนกับหลายๆ ที่ในภูมิภาคนี้ ไหมยังเป็นกลไกหรือสินค้าทางการทูต เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดิกับผู้นำชนเผ่าเร่ร่อน ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของจักรพรรดิจีนในสังคมเกษตรกับที่ทุ่งหญ้าสเตปป์ดำรงอยู่เรื่อยไป ไหมของจีนก็จะเดินทางไปสู่ทุ่งหญ้าสเตปป์เหมือนที่เป็นมาแต่ก่อน 

ในช่วงศตวรรษที่ 5 และ 6 เรื่อยมา ศาสนาพุทธมีบทบาทสำคัญต่อความชอบธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ อำนาจของจักรพรรดิและชนชั้นนำจีน คนจีนในยุคนั้นให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาใหม่ ศาสนสถานต่างๆ ที่เกิดขึ้น สร้างความเป็นชุมชนใหม่ในจีน คนจีนมองหาความเป็นชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกให้ความคุ้มครองปลอดภัย (safety net) โดยรวมกลุ่มอยู่กันตามบริเวณวัด เมื่อเทียบกับทางเลือกการนับถือศาสนา ความเชื่อ บนทุ่งหญ้าสเตปป์ หรือคำสอนของขงจื๊อ 

ประมาณกลางศตวรรษที่ 5 จักรพรรดิของราชวงศ์เหว่ยเหนือ (Northern Wei) สนใจศาสนาพุทธเช่นเดียวกับคนจีนเมื่อเทียบกับคำสอนของขงจื๊อ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ครอบครัวจีนในยุคนั้นต้องอพยพย้ายไปมา ระบบครอบครัวที่ให้ความสำคัญพ่อเป็นใหญ่ปฏิบัติไม่ได้ การต้องย้ายลงใต้และอพยพทำให้ครอบครัวขาดความสัมพันธ์และความแน่นแฟ้นกันแบบครอบครัว ความเชื่อหรือลัทธิคำสอนของขงจื๊อจึงไม่สร้างแรงดึงดูดใจให้เหมือนกับศาสนาพุทธในช่วงเวลานั้น จักรพรรดิของราชวงศ์เหว่ยเหนือเริ่มสร้างพระพุทธรูปมหึมาแกะสลักจากหินใกล้ๆ เมืองหลวง Pingchen (ปัจจุบันคือ เมือง Yungang) รูปปั้นรูปแกะสลักพระพุทธรูปที่นี่เป็นจุดสุดท้ายทางด้านตะวันออกของถนนสายไหม รูปปั้นแกะสลักพุทธเหล่านี้บอกถึงความชอบธรรมของการเป็นตัวแทนจากพระพุทธเจ้า รวมทั้งเป็นความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองประเทศจีน

ผู้ปกครองของแทบทุกอาณาจักรล้วนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไหมและผลิตภัณฑ์ไหมในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับผู้ปกครองหรือชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น จักรวรรดิโรมัน อินเดีย เปอร์เซีย Byzantine หรือแม้กระทั่งชนชั้นนำจีนก็หลงใหลไหมจากอิหร่านหรือเปอร์เซีย ราชวงศ์คุปตะและชนชั้นนำสตรีอินเดียชื่นชมไหมจากประเทศจีนเป็นพิเศษ ผู้ปกครองคุปตะมีรสนิยมใช้ของฟุ่มเฟือยนำเข้าผ่านการค้าขายบนเส้นทางสายไหม ทำให้ตลาดบนเส้นทางสายไหมคึกคัก รุ่งเรือง ราชวงศ์คุปตะส่งเสริมและผูกขาดอุตสาหกรรมไหม สร้างอุตสาหกรรมทอไหมของตนเอง แม้จะไม่เด่นเท่าของจีน ชนชั้นนำอินเดียจึงหลงใหลไหมจากจีน หญิงชั้นสูงอินเดียก็ใช้ไหมเสริมความงามสง่า ทำให้มีชนชั้น ในยุคคุปตะเราได้เห็นวรรณคดีศิลปะ สถาปัตยกรรม ที่สะท้อนการใช้ชีวิตที่หรูหรา แสดงออกมาจากเครื่องประดับของราชวงศ์คุปตะ นำเข้าจากจีน

ภาพวาดฝาผนัง กำแพง ถ้ำหิน เจดีย์สถานต่างๆ สถูป ภาพวาดในบริเวณวัดตามถ้ำทางตะวันตกได้กลายเป็นรูปแบบจำลองศิลปะภาพวาดพุทธศาสนาแถบเอเชียกลางและจีน พระโพธิสัตว์จะมีการตกแต่งด้วยอัญมณี (7 ทรัพย์ล้ำค่า) ช่วงคริสต์ศตวรรษ 4-5 ชาวพุทธจะเริ่มชอบการตกแต่งไอดอลที่มีสีสันแทนปฏิมากรรมหินแบบดั้งเดิม รูปพระพุทธเจ้าที่ Bamiyan และที่ Yungang ล้วนมีสีสัน เช่นเดียวกับที่อื่นๆ นอกจากภาพมนุษย์ เราพบเป็นประจำภาพเทพเทวดาและนางฟ้าของอินเดียในชุดไหมเหาะบินได้ ผู้อุปถัมภ์หรือบริจาคชาวพุทธจะเลือกสัญลักษณ์ภาพบอกถึงความเป็นอมตะ 

งานศิลปะพุทธในแถบเอเชียกลางไม่ได้เพียงแต่จะเลียนแบบศิลปะพุทธของอินเดีย มันมีศิลปะของศาสนาอื่นๆ สะท้อนการเข้ามามีอิทธิพลทางศิลปะวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ เราจึงพบศิลปะของศาสนา Zoroastrian ศาสนามานี (Manichaenism จากเปอร์เซีย) ผสมผสานเจือปนไปกับศาสนาพุทธ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า แม้ศาสนาพุทธไม่เด่นในเปอร์เซียในเวลาต่อมา แต่ในช่วงแรกๆ พ่อค้าพุทธจากเปอร์เซีย เช่น พ่อค้า Sogdian เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธในจีน 

ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นบนถนนสายไหม ศิลปะที่มีองค์ประกอบของ Zoroastrian เจือปน เช่น การบูชาไฟ เราจะพบในช่วงแรกๆ ของปฏิมากรรมแบบพุทธ อิทธิพลของเปอร์เซียชัดเจนขึ้นหลังราชวงศ์แซสซานิด (Sassanid) เราจึงได้ประจักษ์บทบาทพ่อค้าโซโรแอสเตรียนสามารถนำวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเขามาลงบนเส้นทางสายไหมในเอเชีย