การหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงิน กยศ.

การหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงิน กยศ.

“กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” (กองทุน) ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560

โดยเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรี และมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น อีกทั้งกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษา (1) ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือ (2) ในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หรือ (3) ในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ หรือ (4) ที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ

ดังนั้นนักเรียนหรือนักศึกษาทั้งหลายผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนจึงใช้สิทธิขอกู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ และเมื่อได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้วต้องทำสัญญากู้ยืมเงินตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากำหนด ซึ่งหากพิจารณาในทางกฎหมายแล้ว นักเรียนหรือนักศึกษาจะมีสถานะเป็นผู้กู้ยืมเงินหรือเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา มีหน้าที่ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนแก่กองทุนตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ประเด็นที่มีความน่าสนใจก็คือ ผู้กู้ยืมเงินจะต้องให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (เงินได้จากการจ้างแรงงาน) หักเงินได้พึงประเมินของตนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบเพื่อชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน

ประเด็นดังกล่าวข้างต้นส่งผลทำให้บุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบโดยให้นำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เมื่อกรมสรรพากรได้รับเงินจากผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งแล้วให้นำส่งกองทุนต่อไป

ถ้าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ได้หักเงินได้ดังกล่าว หรือหักแต่ไม่ได้นำส่ง หรือนำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือหักแต่นำส่งเกินกำหนดระยะเวลา กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินต้องรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา2% ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นำส่งหรือตามจำนวนที่ยังขาดไปแล้วแต่กรณี ซึ่งในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินได้หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินไว้แล้ว ให้ถือว่าผู้กู้ยืมเงินได้ชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามจำนวนที่ได้หักไว้แล้ว

ต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการหักเงินได้พึงประเมินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 ส.ค.2562 มีสาระสำคัญคือ 1) การกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานที่ต้องมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมิน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม สำนักงาน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐอื่นใด หรือหน่วยงานเอกชนที่เป็นบุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคล 2) การกำหนดตัวผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับเงินได้พึงประเมินไม่ว่าจะเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นใด หรือของหน่วยงานเอกชน และ 3) การหักเงินได้พึงประเมินโดยให้เข้าใช้ระบบ e-PaySLF และให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

ผู้เขียนเห็นว่า การกำหนดให้มีการหักเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานของผู้มีเงินได้พึงประเมินซึ่งเป็นลูกหนี้กองทุนหรือผู้กู้ยืมเงินนั้น เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่จะทำให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้เงินกู้คืนแก่กองทุนตามระยะเวลาและภายในระยะเวลาที่สัญญากู้ยืมเงินกำหนด ประกอบกับเมื่อมีการชำระหนี้กู้ยืมเงินคืนแก่กองทุนมากยิ่งขึ้นแล้ว กองทุนก็จะสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามที่ได้กล่าวข้างต้นได้ ซึ่งก็คือการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษารายอื่นต่อไป นอกจากนี้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวข้างต้นยังทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญากู้ยืมเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีภาระหน้าที่ต้องหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินเพื่อนำส่งกรมสรรพากร และกรมสรรพากรยังมีหน้าที่ต้องนำเงินส่งกองทุนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เงินที่กองทุนนำมาให้นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมเงินนั้น ส่วนหนึ่งได้มาจากเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลหรือเงินที่ได้รับจากการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวเป็นการนำเงินภาษีอากรของประชาชนที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บเป็นรายได้ตามกฎหมายต่าง ๆ มาใช้สนับสนุนการดำเนินการของกองทุน ดังนั้นเงินที่นักเรียนหรือนักศึกษากู้ยืมมานั้นจึงมาจากเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ จึงมีเหตุผลสมควรที่ผู้กู้ยืมเงินจะต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ 

โดย... 

ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์