อุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาชาติ ตอนที่ 2

อุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาชาติ ตอนที่ 2

จากบทความตอนที่แล้ว ได้ให้กำลังใจทุกฝ่ายที่ร่วกมันสร้างสรรค์การปกครองในระบบประชาธิปไตยให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ตามกระบวนการแสดงออกและรับฟังซึ่งกันและกันอย่างมีเหตุผล โดยเฉพาะกับในช่วงนี้ที่มีการประกาศนโยบายและมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่มองว่า ในประเทศไทยนี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกาะกลุ่มกัน 

แนวนโยบายหาเสียงของไทย จึงไม่ควรที่จะนำไปสู่ความแตกต่างหรือแตกแยก ในความคิดหรืออุดมการณ์ที่จะไม่มีวันมาบรรจบได้เลย ปัญหาเช่นเรื่องภาษีอากรก็คือปัญหาที่พรรคการเมืองทุกพรรคต้องช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้รายได้ของรัฐในรูปแบบต่างๆ (รวมทั้งที่นอกเหนือไปจากภาษีอากร 

เช่น ปัญหาการค้าขายที่เป็นการผูกขาดในระบบค้าปลีกที่ทำให้รายได้ของรัฐที่ควรจะได้จากการให้มีสัมปทานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น) มีจำนวนเพียงพอแก่การเรียกร้องของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่ให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะทำให้รายได้ของรัฐสูงเกินกว่า15% ของรายได้ประชาชาติและยกสูงให้เกิน เช่น 20% เพื่อที่รัฐจะได้ดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และให้สวัสดิการทางสังคมที่ครบถ้วนมากที่สุด 

การมีรายได้ที่พอเพียงของรัฐก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งอีกเช่นกันที่ต้องนำไปเกลี่ยในการให้บริการทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่จะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ทุกพรรคการเมืองเรียกร้องให้แก้ไข สรุปโดยย่อคือในแนวทางอุดมการณ์การเมืองหลักของไทยไม่น่าที่จะเบี่ยงเบนออกจากการช่วยการเสริมความแข็งแกร่งและคุณภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวมทุกภาคส่วน (inclusive) ให้เกิดการขยายตัวที่มีการกระจายความเจริญไปพร้อมๆ กัน หมายถึงการขยายตัวที่เน้นอัตราการขยายตัวของผู้ที่มีรายได้น้อยให้สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของการขยายตัวโดยรวม โดยการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนพร้อมกับการลงทุนของฝ่ายรัฐ มิใช่ปล่อยให้ฝ่ายรัฐเป็นผู้ลงทุนอยู่ข้างเดียว รวมถึงการขยายตัวที่ต้องมีเงื่อนไขทางการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตในแนวของเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืนควบคู่ไปด้วย

การรณรงค์หาเสียงและการประกาศนโยบายจุดยืนของพรรคการเมือง จึงมักจำเป็นที่ต้องมีการชี้แจงทั้งนโยบายระยะสั้นและนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมโดยระยะยาวควบคู่กันไป หากจะมีการแถลงเฉพาะมาตรการระยะสั้นที่ดูจะเป็นการซื้อใจผู้มีสิทธิออกเสียงก็จะทำให้เป็นการเปรียบเสมือนการแข่งขันกันหยิบยื่นบริการสิ่งของให้กับประชาชนเช่นเดียวกับการประมูลราคาเพื่อได้มาซึ่งวัตถุที่ผู้ประมูลต้องการ 

ในที่นี้ผู้ประมูลอาจจะเป็นพรรคการเมืองและสิ่งของที่ต้องการคือคะแนนเสียง และราคาการประมูลคือการหยิบยื่นสิ่งตอบแทนที่อาจจะเป็นเงินอุดหนุนโดยตรงหรือบริการที่มากน้อยแตกต่างกันออกไป การชี้แจงประชาชนเพื่อเป็นการนำทางและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อความเข้าใจที่ดีและเพื่อลดปัญหาแรงกดดันต่องบประมาณดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะถูกต้องที่สุด แต่อาจจะยากที่จะใช้เพื่อดึงคะแนนมาได้ แนวทางการออกนโยบายช่วงหาเสียงจึงโน้มเอนไปในทางเอาใจผู้มีสิทธิมีเสียงเป็นประการสำคัญ 

ประเด็นการหาเสียงที่เป็นการประมูลเสียงมีเกิดขึ้นทั่วไปในโลก เช่นที่สหรัฐฯ มีการใช้นโยบายการจำกัดการนำเข้าจากประเทศจีน โดยกล่าวอ้างว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงเกินเหตุของหรัฐฯ เป็นผลมาจากการค้าขายกับประเทศจีน และที่ยุโรปมีการใช้นโยบายต่อต้านการอพยพย้ายถิ่นเพื่อลดแรงกดดันต่อตลาดแรงงานในประเทศ 

ทั้งที่นโยบายการสร้างงานติดขัดอยู่กับกฎเกณฑ์ของตลาดแรงงานที่ทำให้ตลาดขาดความยืดหยุ่นตัวมากกว่า ประเด็นของไทยในเรื่องแรงงานที่ใช้กันมากในการหาเสียงคือการแข่งขันกันขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งที่จริงค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะถูกนำออกจากเรื่องการเมืองและปล่อยให้เป็นการขึ้นโดยอัตโนมัติและยึดโยงอยู่กับการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน โดยทางการให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเพิ่มพูนทักษะแก่แรงงานทุกประเภทที่รับค่าจ้างขั้นต่ำ

มาตรการที่มีการประกาศระหว่างการหาเสียงและการดำเนินนโยบายตามความเป็นจริงเมื่อเป็นรัฐบาล จึงมักมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องประสบกับความเป็นจริงของระบบกฎหมายและระบบราชการ รวมทั้งงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ในหลายกรณีมีภาวะการณ์ของตลาดโลกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ผลของนโยบายไม่เป็นไปตามที่มีการให้สัญญากันไว้ 

ในกรณีของไทยคงต้องเป็นที่ยอมรับกันว่าถึงแม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรเป็นหลัก แต่เมื่อเทียบกับขนาดของการค้าขายสินค้าเกษตรในตลาดโลกแล้ว สินค้าของไทยยังมีปริมาณเป็นสัดส่วนที่ต่ำอยู่มาก เราจึงมักไม่มีอำนาจที่จะกำหนดทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ 

รวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วมักใช้นโยบายทุ่มการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรทั้งภายในประเทศและอุดหนุนราคาส่งออก ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรถูกบิดเบือนในเรื่องของราคาอยู่เป็นนิจ การเข้าแทรกแซงราคาเพื่อช่วยเกษตรกรด้วยการยกระดับสินค้าราคาในประเทศเพียงครั้งคราว จึงมักมีผลให้รัฐต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเพียงเพื่อรักษาสถานการณ์ให้ดูดีในระยะสั้นเท่านั้น 

ปัญหาทางการเกษตรแท้จริงต้องใช้มาตรการปรับปรุงระยะยาวทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่จำเป็นที่สุดคือการเพิ่มผลิตภาพต่อพื้นที่ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การค้นคว้าวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและคุณภาพดิน การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง และการปรับปรุงระบบสหกรณ์ให้เป็นการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือ สร้างอำนาจในการต่อรองให้กับเกษตรกรอย่างมั่นคง 

การมีบทบาทนำของไทยร่วมกับกลุ่มอาเซียนในการเจรจาการค้าโลกอาจจะให้ผลไม่ได้ทันใจอย่างต้องการ แต่ก็จะมีส่วนช่วยทำให้การแข่งขันในตลาดโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะต่อเกษตรกรและสินค้าเกษตรโดยส่วนรวม

โดย... 

ศุภชัย พานิชภักดิ์