E-commerce

“ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” คือสัจธรรมของโลกธุรกิจแบบเดิม แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้าง

แพลตฟอร์มและโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งปลาใหญ่และเล็กไม่แน่ว่าจะรอด ปลาเร็วก็อาจหลงทางได้ มีเพียงปลาที่ฉลาด คล่องตัว และรู้จักเกาะกระแสในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้นที่รอดและรุ่งเรือง

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) คือโลกใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสสำหรับทุกคน มันเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกที่ทั่วโลก ปี 2559 มูลค่าอีคอมเมิร์ซในอเมริกาคือ 3.94 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8% ของยอดค้าปลีกทั้งหมด ส่วนจีนแซงหน้าไปแล้วที่ 7 แสนล้านดอลลาร์ เท่ากับ 13% ของยอดรวม

ในไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ชี้ว่า ปี 2557 ไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซกว่า 2.03 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) 1.23 ล้านล้าน (60.69%) ธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) 0.41 ล้านล้าน (20.25%) และธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) 0.39 ล้านล้าน (19.06%) โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ การให้บริการที่พักและอาหาร 0.63 ล้านล้าน (38.1 %) การผลิต 0.44 ล้านล้าน (26.6%) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 0.26 ล้านล้าน (16%)

เอ็ตด้าคาดว่า ปี 2558 มูลค่าเพิ่มเป็น 2.11 ล้านล้านบาท เติบโต 3.65% กลุ่ม B2C โตขึ้น 15.29% มีส่วนแบ่ง 22.57% กลุ่ม B2B มีส่วนแบ่งลดลงเหลือ 58.32% กลุ่ม B2G คงเดิม อุตสาหกรรม 2 อันดับแรกคงเดิม แต่อันดับ 3 เปลี่ยนเป็นการค้าปลีกและค้าส่ง 0.33 ล้านล้าน ส่วนแบ่ง 19.0%

ความร้อนแรงของอีคอมเมิร์ซทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเข้ามาร่วมด้วย เช่น กลุ่มเซ็นทรัลซื้อ Zalora (ประเทศไทย) ซาโรล่าเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซสินค้าแฟชั่นอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ที่สะท้านวงการคือ Alibaba ซื้อกิจการ Lazada ด้วยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อรุกตลาดอาเซียน เดิมพันใหญ่ขนาดนี้ชี้ถึงอนาคตที่สดใสของอีคอมเมิร์ซไทยและอาเซียน

ในการจัดอันดับเว็บไซต์ที่ทำรายได้สูงสุดของโลกปี 2558 เว็บอีคอมเมิร์ซติด 3 ใน 10 อันดับแรก คือ e-Bay (8), Alibaba (5) และ Amazon (1) โดยมีรายได้ 8,590 ล้าน 12,290 ล้าน และ 107,000 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ กลุ่มที่เหลือคือเว็บ Search อีก 2 เว็บโซเชียลอีก 2 เว็บท่องเที่ยวอีก 2 และเว็บพอร์ทัลอีก 1 กลุ่มอีคอมเมิร์ซยังทำรายได้รวมมากกว่าทุกกลุ่ม นี่แสดงว่าอีคอมเมิร์ซคือพื้นที่ที่รุ่งเรืองและกว้างใหญ่ที่สุดของโลกดิจิทัล

อเมซอนคือเว็บอีคอมเมิร์ซที่ทำรายได้มากที่สุดในโลก เริ่มต้นจากการขายหนังสือและขยายไปยังสินค้าอื่น เช่น ซีดี ดีวีดี ซอฟท์แวร์ วิดีโอเกมส์ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น จิวเวอรี่ ฯลฯ ทั้งผลิตอุปกรณ์ของตัวเอง เช่น อีบุ๊ค ฯลฯ อเมซอนยังแตกไลน์ไปเป็นผู้ให้บริการ Cloud Computing รายใหญ่อีกด้วย

เจฟ เบโซส (Jeff Bezos) คือผู้ก่อตั้งอเมซอน เขาเกิด 12 มกราคม 2507 ไม่มีข้อมูลเวลาเกิด อาทิตย์อยู่ปลายราศีธนู ธนูคือราศีแห่งการท่องโลกกว้างและจิตวิญญาณของการผจญภัย ชื่อ Amazon สะท้อนตัวตนของเขา อาทิตย์ทำมุม 60 กับเนปจูน เขามีจินตนาการสูง อาทิตย์เกาะวรโคตมนวางค์ จึงเข้มแข็งให้คุณ อาทิตย์คือเกียรติยศ ชื่อเสียง การยกย่องจากสังคม ฯลฯ เบโซสเป็น 1 ในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก

พุธคือดาวสำคัญในดวง พุธได้แสงจากอาทิตย์ พุธธนูเล็งราหูเมถุนและทำมุม 90 กับพฤหัสมีน พุธคือความคิด เบโซสเป็นคนฉลาด หัวไว พลิกแพลงเก่ง พุธทำมุม 120 กับมฤตยูสิงห์ มฤตยูคือเทคโนโลยีใหม่ เขาประยุกต์ใช้มันให้เป็นประโยชน์สูงสุด พุธยังทำมุม 45 กับศุกร์กุมภ์และเสาร์มังกร เขาสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความเป็นจริง พุธหมายถึงการค้าขาย นี่คือเหตุผลที่เบโซสประสบความสำเร็จจากเว็บขายของออนไลน์

ปี 2537 ในช่วงอินเตอร์เน็ตเริ่มบูม เบโซสลาออกจากตำแหน่งรองประธานฯของ D.E. Shaw & Co. ในวอลล์สตรีทและย้ายไปซีแอตเติ้ลเพื่อเริ่มแผนธุรกิจของตน เขาจดทะเบียน Cadabra เมื่อ 5 กรกฎาคม 2537 เบโซสเปลี่ยนชื่อเป็น Amazon และจดทะเบียนเว็บเมื่อ 31 ตุลาคม เวลา 21:00 น.

หนังสือเล่มแรกที่อเมซอน (Beta Version) ขายได้คือ Fluid Concepts and Creative Analogies : Computer Models of the Fundamental Mechanisms of Thought เมื่อ 3 เมษายน 2538 ผู้ซื้อคือ John Wainwright นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของ Kaleida Labs ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของแอ็พเปิ้ลกับไอบีเอ็ม แต่อเมซอนบันทึกรายการขายนี้เป็น 16 กรกฎาคม 2538 วันที่เว็บเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

เพราะเกาะกระแสในจังหวะที่ถูกต้อง อเมซอนจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดขายปีแรกครึ่งล้านเพิ่มเป็น 147 ล้านภายใน 2 ปี อเมซอนทำไอพีโอในตลาดหุ้นนาสแดคเมื่อ 15 พฤษภาคม 2540 เวลา 9:30 น. ที่ 18 ดอลลาร์ต่อหุ้น ราคาหุ้นพุ่งสูงกว่า 100 ดอลลาร์ในปี 2542 ปีต่อมาฟองสบู่ดอทคอมแตก คู่แข่งจำนวนมากล้มหายไป แต่อเมซอนรอดและกลายเป็นเจ้าตลาด อเมซอนมีกำไรครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2544 มันเป็นไปตาม Business Model ที่เบโซสวางไว้ ทั้งยืนยันถึงความเป็นไปได้จริงของอีคอมเมิร์ซ

เมื่อผูกดวงเว็บ Amazon เราได้ลัคนาเมถุน เมถุนคือราศีแห่งการค้าขาย มันตรงกับตัวตนของเว็บที่สุด ลัคนาได้มุมดาว 7 มุม คือ มุม 90 จากพุธกันย์ มุม 120 จากอาทิตย์พฤหัสศุกร์ราหูในราศีตุลย์ และมุม 180 จากมฤตยูเนปจูนในราศีธนู แสดงถึงศักยภาพและโอกาสประสบความสำเร็จอย่างสูง มฤตยูเนปจูนที่กุมกันสนิทเล็งลัคน์คือกุญแจดอกสำคัญ มันชี้ถึงการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะกลายเป็นต้นแบบของอนาคต

อาทิตย์ตุลย์นี้เป็น นิจจะภังคะราชาโยค ที่กลับเข้มแข็ง จึงให้คุณเรื่องชื่อเสียงและแบรนด์ที่โด่งดัง อาทิตย์พฤหัสศุกร์เกิดเป็น Stellium ราศีตุลย์จึงเข้มแข็งมาก ตุลย์คือภพที่ 5 (ตลาดหุ้น) อเมซอนจะยิ่งใหญ่มั่งคั่งเมื่อเข้าตลาดหุ้น ลัคน์เมถุน พุธคือดาวเจ้าเรือนลัคน์ พุธเป็นเกษตร์และเกาะวรโคตมนวางค์ เข้มแข็งให้คุณมาก ยืนยันถึงชะตาชีวิตที่สูงส่ง

ในวันไอพีโอ พฤหัสมฤตยูเนปจูนอยู่มังกร ทำมุมกับดาวในภพ 5 โดยเฉพาะพฤหัสที่ทำมุม 90 กับพฤหัสเดิมสนิท การเข้าตลาดหุ้นได้เพิ่มมูลค่าความมั่งคั่งมหาศาล

วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยน ความมั่งคั่งก็เปลี่ยนตาม คุณพร้อมสำหรับอีคอมเมิร์ซหรือยัง