โครงการแจกเงินของรัฐ ไม่ช่วยอะไร

โครงการแจกเงินของรัฐ ไม่ช่วยอะไร

โครงการเพื่อสวัสดิการของรัฐที่รัฐบาลปัจจุบันมีมติให้ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยเกือบสิบล้านคน เป็นเงิน 1,500 บาท ถึง 3,000 บาท

บาท เป็นอะไรที่ไม่แตกต่างจากที่รัฐบาลชุดก่อนๆเคยทำเช่น โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการเช่นนี้ ไม่ได้ช่วยอะไรมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีอำนาจซื้อมากขึ้นในบางช่วงบางเวลา ซึ่งคงไม่มีผลอะไรมากนัก หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็น โครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนั่นเอง

         อยากให้รัฐบาลคิดใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้การช่วยเงินคนจนเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่านี้ เพราะเราคงไม่สามารถให้เงินเปล่าจากภาษีของประชาชนตลอดไป และเงินจำนวนนี้ก็น้อยเกินไปที่จะไปทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันได้ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ไม่สามารถทำให้มีความสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้ ไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้ในระยะยาว ไม่ทำให้เป็นการยกระดับขีดความสามารถในการทำงานและความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่สามารถพัฒนาชุมชนและสังคมได้ ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็งได้ โดยสรุป เป็นการสูญเปล่าอย่างแท้จริง

          การที่จะทำให้โครงการนี้มีผลสำเร็จจะต้องเป็นโครงการที่มีผลระยะยาว ยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ให้พวกเขาขึ้นมายืนเหนือเส้นแบ่งแห่งความยากจน (Poverty Line) ให้ได้ และในระยะยาว พวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างถาวร ไม่ใช่แค่มีเงินจับจ่ายใช้สอยชั่วข้ามคืน แล้วก็กลับไปมีชีวิตเหมือนเดิม

           รัฐบาลต้องคิดว่าวิธีที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตนั้น มาจากการทำงานที่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช่จากการแจกเงินชั่วครั้งคราว รัฐบาลต้องเข้าไปแทรกแซงในการให้พวกเขาเหล่านั้นมีทักษะในการทำงานมากขึ้น รองรับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จึงใคร่ขอเสนอมาตรการเหล่านี้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ

           1.การแจกเงินชั่วคราวเพียงครั้งหรือสองครั้งด้วยเงินจำนวนน้อยนิด 1,500 บาท ถึง 3,000 บาท ควรเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือเป็นรายเดือน เพื่อให้มีเงินใช้สอยทั้งปีไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งแห่งความยากจน (Poverty Line) ซึ่งอาจจะเป็น 100,000 หรือ 150,000 บาท ตามที่รัฐกำหนด

          2.การที่ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือนั้น ต้องมาลงทะเบียนคนจนกับรัฐก่อน เพื่อเก็บประวัติรายละเอียดประสบการณ์การทำงานในอดีต ข้อมูลเหล่านี้ รัฐจะนำมาวิเคราะห์ว่าการที่รายได้ไม่มากพอเป็นเพราะเหตุใด บางคนอาจมีประวัติการทำงานที่มีรายได้พอสมควรแต่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตทำงานทำให้ไม่สามารถกลับไปมีรายได้เช่นเดิม

          3.รัฐต้องเข้าไปใกล้ชิดกับประชาชนที่รับเงินสวัสดิการ มีหน่วยงานฝึกอบรมฟื้นฟูสร้างเสริมศักยภาพให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสามารถในการทำงาน มีทักษะ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน (Marketable Skill) งานนี้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าไปประเมินความก้าวหน้าของการฟื้นฟูอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเมื่อครั้งลงทะเบียน ความต่อเนื่องของการฟื้นฟูเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้พวกเขาแข็งแรงพอที่จะยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได

          4.เมื่อรัฐได้ติดตามประเมินผลเป็นระยะๆแล้ว รัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นให้พวกเขาทำงานมากขึ้นและมีรายได้พอเพียงกับการเลี้ยงชีพของตัวเองที่สูงกว่าเส้นแบ่งแห่งความยากจน และค่อยๆลดสวัสดิการเงินช่วยเหลือรายเดือนลงเป็นลำดับ จนกว่าจะหลุดพ้นความยากจนและไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐอีกต่อไป ซึ่งรัฐก็จะได้มีเงินเหลือเพื่อนำไปทำอะไรอย่างอื่นเช่น สาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะช่วยให้ชุมชนและสังคมดีขึ้น

          5.รัฐอาจต้องมีมาตรการเชิงบังคับให้พวกเขาหางานทำและสร้างรายได้ให้กับตนเอง อาทิให้มีการรายงานว่าแต่ละเดือนมีรายได้มากขึ้นเท่าไร หรือมีการสมัครงานอย่างน้อยกี่แห่ง เพื่อให้พวกเขาขวนขวายหางานทำ ไม่ใช่อยู่นิ่งๆเพื่อรอรับเงินช่วยเหลือประจำเดือนจากรัฐอย่างเดียว และในกรณีที่ประเมินแล้วเห็นว่าไม่ได้ช่วยตัวเองในระดับที่เหมาะสม ก็อาจใช้มาตรการลดเงินสวัสดิการหรือเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือโดยวิธีอื่นเช่นแจกคูปองเพื่อให้แลกซื้อสินค้าบางชนิดที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น เปลี่ยนเป็นเงินสดไม่ได้ เช่นนี้เป็นต้น

            รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการรัฐที่จะนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อให้พ้นเส้นแบ่งแห่งความยากจนในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงอายุของผู้รับสวัสดิการอาจแตกต่างกันบ้าง รัฐจะต้องประสานทั้งจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงเช่น ก. แรงงาน ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก.มหาดไทย ก.ศึกษา ก.สาธารณสุข และภาคเอกชนที่ประกอบการด้านอุตสาหกรรมต่างๆ การฝึกอบรมจะต้องมีพร้อมๆกับการหางานของพวกเขาเหล่านั้น โครงการประชารัฐอาจช่วยตอบโจทย์นี้ได้

            สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือทักษะของพวกเขาที่จะต้องสอดรับกับความต้องการของนายจ้างด้วย เพราะผู้ประกอบการคงไม่สามารถรับคนเข้าทำงานที่นอกจากไม่ทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นแล้วยังกลับมาเป็นภาระให้ต้องอุ้มชูกันตลอดเวลา เพราะถ้าองค์กรอยู่ไม่ได้ พนักงานก็อยู่ไม่ได้ ทักษะของพวกเขาต้องเป็นทักษะที่เป็นความต้องการของตลาดด้วย (Marketable Skills)

           เมื่อไม่นานมานี้มีผลการสำรวจช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ความมั่งคั่งของคน 1% มากกว่าคนอีก 99% ที่เหลือทั้งหมด และช่องว่างนี้สูงมากเป็นอันดับต้นๆของโลกทีเดียว ถึงแม้ว่าการวัดช่องว่างเน้นเรื่องการถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักในแง่ที่ว่าคนรวย 1% ถือครองที่ดินมากกว่าคนอีก 99% แต่ก็แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำมหาศาล

            รัฐบาลต้องมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ วางรากฐานให้กับรัฐบาลชุดต่อไป จะถึงกับเป็นยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่ถ้าหากเป็นการช่วยเหลือแจกเงินเป็นครั้งคราวเช่นนี้ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเท่ากับเป็นการเอาภาษีประชาชนมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำนั่นเอง