“จน-ไม่แจก แจก-คนไม่จน”

 “จน-ไม่แจก แจก-คนไม่จน”

จากการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการการ

เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้งบประมาณ 12,750 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับกลุ่มคนจนในเมือง และเมื่อรวมกับมติครม. เมื่อ 27 กันยายน 2559 ที่อนุมัติงบ 6,540 ล้านบาท สำหรับแจกเกษตรกร รวม 2 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 20,000 ล้านบาท

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทั้งกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนจนในเมือง พบว่ามีเกณฑ์เดียวกันคือ หากมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รับเงิน 3,000 บาท และหากมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี รับเงิน 1,500 บาท นโยบายแจกเงินนี้ไม่ใช่นโยบายใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 ภายใต้รัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ได้มีการแจกเงินเช่นเดียวกันในชื่อ “เช็คช่วยชาติ” จำนวน 2,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท รวมทั้งโครงการใช้งบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท

ข้อสังเกตประการแรกคือ การนิยามคำว่า คนจนนั้น สำคัญ เพราะหากนิยามผิดพลาด จะทำนโยบายไม่ตรงจุด ไปแจกเงินคนที่ จนไม่จริงหรือที่แย่กว่านั้นก็คือ คนที่จนจริงๆกลับไม่ได้เงินช่วยเหลือ โครงการนี้ก็จะมีประโยชน์น้อยลง สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ปัญหาคือ เราจะวัดความยากจนได้อย่างไร เราจะใช้อะไรวัดว่า คนนั้นจน...คนนั้นรวย ?

นักเศรษฐศาสตร์มักจะใช้ รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค” ในการวัดความยากจน โดยจะมีรายจ่ายกลางเป็นเกณฑ์ เกณฑ์นี้เรียกว่า “เส้นความยากจน” ใครที่มีรายจ่ายน้อยกว่าระดับที่กำหนดก็จะถือว่าเป็นคนจน ดังนั้น ในแต่ละประเทศจะมีเกณฑ์ดังกล่าวไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้มีเกณฑ์วัดความยากจนสากล (International Poverty Line) อยู่ที่ระดับ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แปลงเป็นบาทไทย ได้เท่ากับ 66.5 บาทต่อวัน หรือประมาณ 24,273 บาทต่อปี ขณะที่ของไทยนั้น ในปี พ.ศ.2558 เส้นความยากจนของไทย อยู่ที่ 2,644 บาท ต่อคน ต่อเดือน (นั่นหมายถึง 88.13 บาทต่อวัน)

ใครที่มี “รายจ่าย” น้อยกว่า 88 บาทต่อวัน ก็ถือเป็นคนจน เมื่อพิจารณาดูแล้ว นั่นแปลว่า “1 ปี รายจ่ายจะต้องไม่เกินปีละ 31,728 บาท” แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเลขของโครงการลงทะเบียนที่ออกมาไม่สอดคล้องความจริง ทำให้รัฐกำลังจะไปจ่ายเงินให้กับ “คนจนไม่จริง” จากการสำรวจโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า คนไทยที่มีรายจ่ายไม่เกิน 31,728 ต่อปี มีจำนวน 4.85 ล้านคน แต่จากตัวเลขของ “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” พบว่าคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 0 บาท ถึง 3 หมื่นบาทต่อปี (ซึ่งเป็นคนจริงๆ ตามนิยามการวัดคนจน) ที่ลงทะเบียน มีกว่า 4.42 ล้านคน (คิดเป็น 53% ของคนลงทะเบียน)

ข้อสังเกตประการที่ 1 : มีคนจนกว่า 6 แสนคน ที่ไม่ได้ลงทะเบียน และไม่ได้เงินช่วยเหลือ คนเหล่านี้หายไปไหน? รัฐควรไปถามแม่ค้าหาบเร่แผงลอยว่าเขารู้จักโครงการนี้หรือไม่ รู้หรือไม่ว่าปิดลงทะเบียนไปแล้ว ดังนั้น สะท้อนว่าไทยต้องการระบบข้อมูลระดับปัจเจกชนอย่างมาก รัฐไม่รู้ว่าใครจน ใครไม่จน ซึ่งหากจัดทำระบบนี้ใหม่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า

ข้อสังเกตประการที่ 2 : จากคนลงทะเบียนที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสน ทั้งหมด 8.32 ล้านคน มีผู้ที่ไม่จนกว่าครึ่ง หรือประมาณ 3.9 ล้านคนที่กำลังจะได้รับเงินช่วยเหลือ “ได้เงินช่วยเหลือ ทั้งที่ไม่ใช่คนจน” ดังนั้น โครงการนี้จึงใช้งบประมาณ “เกินกว่าความจำเป็น”

ข้อสังเกตประการที่ 3: ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท มีจำนวนคนทั้งหมด 4.42 ล้านคน แปลว่าใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท

ข้อสังเกตประการข้อที่ 4: รัฐเสียเงินไปให้กับผู้จนไม่จริง ที่จะได้รับเงินคนละ 1,500 บาท มีจำนวนทั้งสิ้น 3.9 ล้านคน แปลว่าสูญเงินประมาณ 5,800 ล้านบาท เงินในส่วนนี้ นำไปเพิ่มให้กับผู้ที่ไม่มีรายได้เลย จะดีกว่าหรือไม่?

ข้อสังเกตประการข้อที่ 5: การใช้รายได้มาวัดคนจน แทนที่จะใช้รายจ่าย อาจเป็นปัญหา กล่าวคือ มีงานวิจัยมากมายที่พยายามจะศึกษาว่า มาตรฐานการครองชีพ หรือคุณภาพชีวิตของคนนั้น ใช้รายได้หรือรายจ่าย ในการวัดดีกว่ากัน สภาพัฒน์เองก็มีหลายสถิติที่วัดทั้งรายได้/รายจ่าย

อธิบายง่ายๆ คือ หากคุณดูที่รายได้ แต่พบว่า 100 ส่วนของรายได้ นำไปชำระหนี้ ซื้อหวย หรือเป็นรายได้ที่ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้น คนที่มีรายได้สูงจึงไม่ได้หมายถึงคนที่มีคุณภาพชีวิตดี ในทางกลับกัน หากวัดจากรายจ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีนี้จะวัดคุณภาพชีวิตได้ดีกว่า เพราะสะท้อนว่า “สิ่งดีๆ อะไรบ้างที่คุณได้จากการใช้จ่าย” ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน คนที่ลงทะเบียนว่ามีรายได้ 35,000 แต่คุณภาพชีวิตแต่ด้อยกว่าคนที่มีรายได้ 25,000 ผลก็คือ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยลงถึง 1,500 บาท หรือเกือบครึ่ง ดังนั้น ในอนาคต หากมีการพัฒนา ปรับปรุงการลงทะเบียนในส่วนนี้ ก็จะช่วยให้รัฐพัฒนาสวัสดิการได้อย่างตรงจุด

ข้อสังเกตประการที่ 6: เราคาดหวังให้ เงิน 3,000 บาท นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

คำถามก็คือ เงิน 1,500 หรือ 3,000 บาท มีมาในลักษณะโชคช่วย เป็นเงินแบบได้มาโดยที่ไม่ต้องออกแรง เหมือนถูกหวย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับก็จะไม่ได้รู้สึกว่า เงินจำนวนนี้มีค่าเท่ากับเงินเดือน แล้วเกิดอะไร? คำตอบก็คือ เขาก็จะใช้เงินนี้ไปกับอะไรที่ฟุ่มเฟือยแทนที่จะเป็นสิ่งของจำเป็น เช่น ไปดูหนัง ไปกินสตาร์บัค หรือไปร้านอาหารที่สั่งอะไรที่ไม่เคยกิน โดยที่ไม่ต้องเสียดาย เพราะได้มาฟรี

นอกจากนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ ก็อาจจะกระตุ้นได้ในระยะสั้น แต่ไม่อาจคาดหวังว่า เงินจำนวน 20,000 ล้านบาทนี้ จะมาหมุนในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด บางคนก็เก็บไว้กับตัว ไม่ใช้จ่าย บางคนก็นำไปฝาก เป็นต้น ดังนั้น รัฐอาจจะต้องหารือหรือขอความร่วมกับบรรดาห้างสรรพสินค้าให้จัดโปรโมชั่น จูงใจให้นำเงินไปจ่าย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินที่ได้รับออกมาใช้จ่ายและตรงตามกับเป้าประสงค์ของโครงการมากขึ้น

------------------------

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง