ราคาข้าวตกต่ำ (1)

ราคาข้าวตกต่ำ (1)

ราคาข้าวหอมมะลิที่ตกต่ำลงจนเป็นความเดือดร้อนของชาวนาในภาคอีสารและภาคเหนือ ทำให้คณะรัฐบาลต้องออกมาตรการ

ช่วยเหลือมูลค่า 20,000 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องที่จะต้องติดตามต่อไปว่าจะแก้ปัญหาความตกต่ำของราคาข้าวได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจากข้อมูลที่ผมรวบรวมมานั้นชื่อว่าปัญหาราคาข้าวอาจจะยืดเยื้อไปได้อีกหลายเดือน เพราะในภาพรวมนั้นการผลิตข้าวของโลกเพิ่มขึ้น ผิดกับที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้าเพราะสภาวะอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตออกมาสูงเกินคาด แต่ความต้องการบริโภคลดลง ทำให้ปริมาณสต็อกข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปถึงระดับที่สูงสุดในรอบ 15 ปี

มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น สรุปว่าต้องการส่งเสริมให้ชาวนาเก็บข้าวหอมมะลิเอาไว้ก่อน อย่างเพิ่งรีบระบาย โดยคาดหวังว่าการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3 หมื่นล้านบาท บวกเงินค่าเก็บรักษาอีกตันละ 1,500 บาท จะทำให้ชะลอการขายข้าวหอมมะลิประมาณ 2 ล้านตัน (จาก 10 ล้านตัน) ไปได้ประมาณ 5 เดือน ซึ่งจะช่วยพยุงราคาข้าวไม่ไห้ตกต่ำลงไปอีก 

นอกจากนั้น ก็ยังมีเงินช่วยเหลือโดยตรงทั้งชาวนาที่เก็บรักษาข้าวเอาไว้และชาวนาที่ต้องการขายข้าวในทันทีอีกตันละ 2,000 บาท โดยให้เป็นเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ทั้งนี้ โดยสรุปชาวนาที่จำนำข้าวกับรัฐบาลจะต้องเก็บรักษาข้าวเอาไว้เอง (หรือรวมกลุ่มกันเก็บรักษาข้าว) จะได้รับเงินกู้เท่ากับ 90% ของราคาข้าวอ้างอิง (90% ของ 10,500 บาท เท่ากับ 9,500 บาท) บวกค่าเก็บรักษา 1,500 บาทและค่าปรับปรุงข้าว 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,000 บาทต่อตัน แต่ชาวนาที่ขายข้าวทันที ก็จะได้รับเงินรวม 9,500+2,000 = 11,500 บาท

มาตรการดังที่กล่าวข้างต้นคาดหวังว่าจะเป็นผลดีในการพยุงราคาข้าวหอมมะลิ ซึ่งประเมินว่าจะมีผลผลิตออกมา 10 ล้านตัน (ส่วนใหญ่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายนนี้) โดยคาดว่าจะมีการจำนำข้าวเพื่อชะลอการขาย 5 ล้านตัน แต่ก็ต้องรอดูว่าการนำไปปฏิบัตินั้นจะทำได้ทันท่วงที กับผลผลิตที่จะทยอยออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้น ก็ยังมีผลผลิตของข้าวชนิดอื่นๆ ไล่หลังออกมาอีกประมาณ 15 ล้านตัน ดังนั้น ในความเห็นของผมนั้นควรต้องดูสภาวะการผลิตและการบริโภคข้าวโดยรวมของโลกในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคตอย่างถ่องแท้ หากต้องการจะประเมินแนวโน้มของราคาข้าวให้ถูกต้องและชัดเจน

ดังนั้น ผมจึงขอนำเอาตารางสรุปข้อมูลสถิติของการผลิต การส่งออกและการนำเข้าข้าวของโลกมาให้ดูดังปรากฏในตาราง ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากรายงานเรื่องข้าวของกระทรวงเกษตรสหรัฐประจำเดือนตุลาคม 2016 ซึ่งตารางนี้ผมจะขออธิบายในเบื้องต้นในครั้งนี้ แล้วนำเสนอในบทความสัปดาห์หน้าอีกครั้งเพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเขียนเกี่ยวกับเรื่องข้าวและประเด็นที่ท้าทายประเทศไทยเกี่ยวกับข้าวมาหลายสิบปี

ในวันนี้ผมขอกล่าวถึงส่วนของตารางที่เกี่ยวกับการผลิตข้าวของโลก (ดูตารางประกอบ)

ปัจจุบันมีประเทศที่ผลิตข้าวอย่างน้อยเป็นแสนตันต่อปีอยู่กว่า 50 ประเทศ โดยปริมาณการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 480 ล้านตันต่อปี แต่จะเห็นได้ว่าประเทศที่เป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่นั้น นำโดย 2 ประเทศคือจีนและอินเดีย รวมกัน 250 ล้านตันต่อปีหรือกว่าครึ่งของยอดการผลิตของโลก ที่เหลือนั้นส่วนใหญ่ก็ผลิตโดยอีกเพียง 8 ประเทศ ซึ่งตารางมีแล้ว 6 ประเทศ โดยอีก 2 ประเทศคือบราซิลและปากีสถาน หากรวมยอดการผลิตของอีก 8 ประเทศดังกล่าวก็จะมีผลผลิตอีก 152 ล้านตัน กล่าวคือ 10 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกนั้นมีผลผลิตรวมกันประมาณ 400 ล้านตันต่อปี หรือกว่า 80% ของปริมาณการผลิตทั้งโลก ดังนั้น หากประเทศดังกล่าวมีปัญหา (หรือมีผลผลิตสูงเกินคาด) ก็จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดการผลิตโดยรวมได้ เพราะการผลิตนั้นค่อนข้างจะกระจุกตัว

แต่ในครั้งต่อไปเราจะเห็นว่าการส่งออกมีความกระจุกตัวยิ่งกว่าการผลิตครับ