งานสุดท้าย 'โฆสิต' ความมั่นคงด้านการเงิน ยุคสังคมสูงวัย

งานสุดท้าย 'โฆสิต' ความมั่นคงด้านการเงิน ยุคสังคมสูงวัย

เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง กับการสูญเสียบุคลากรสำคัญ

ด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาชนบท อย่าง “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวงสำคัญของประเทศ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โฆสิต เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักพัฒนาในคน ๆ เดียว เขามีมุมมองด้านเศรษฐกิจที่กว้างไกลและแม่นยำ เขาเป็นคนแรกที่ฟันธงเมื่อครั้งเกิดวิกฤติซับไพร์มช่วงแรกๆ ว่าวิกฤติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานนับสิบปี!!!

นับจากวิกฤติครั้งนั้นในปี 2550 มาถึงขณะนี้ เราก็เห็นกันแล้วว่า การฟื้นตัวของสหรัฐเอง แม้จะดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่มั่นคงพอที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด

จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างที่วางแผนไว้

แม้โฆสิตจะเข้ามาอยู่ในภาคเอกชนอย่างธนาคารพาณิชย์ แต่งานพัฒนาก็ยังอยู่ในความคิดของเขาตลอดเวลา ยุคที่เข้ามาทำงานที่แบงก์กรุงเทพใหม่ ๆ เป็นช่วงที่สถาบันการเงินซวนแซหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เพราะสินเชื่อที่กระจุกตัวในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 

เรียกว่าเป็นยุคที่ไม่มีแบงก์ใดกล้าปล่อยสินเชื่อใหม่  แต่เขากลับใช้เวลานี้ในการบุกเบิกงานพัฒนาออกมาในรูปแบบโครงการใหม่ ๆ อย่าง โครงการเกษตรก้าวหน้าและบัวหลวงเอสเอ็มอี ที่เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเกษตรกรนักพัฒนาและหัวก้าวหน้าให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และสร้างเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์กันเอง เพื่อช่วยกันสร้างฐานรากของเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งด้วยตัวเอง  

ธนาคารกรุงเทพในยุคนั้นถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ลงมาจริงจังกับธุรกิจเกษตร และเอสเอ็มอี และเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น ๆเคลื่อนทิศทางไปสู่สินเชื่อเอสเอ็มอีตามในระยะไม่กี่ปีมานี้เอง

และเมื่อโครงสร้างสังคมไทยกำลังเปลี่ยน วันที่เขาเห็นภาพชัดว่า อนาคตประชากรไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ  ประกอบกับความเป็นห่วงเรื่องการออมเงินของคนไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กลับถูกกระตุ้นให้คุ้นเคยกับการสร้างหนี้ผ่านนโยบายประชานิิยม จนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยน่าเป็นห่วงหรืออยู่ในระดับสูงกว่า 80% 

 งานในระยะหลัง โฆสิต จึงให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานการเงินให้กับสังคมไทย ผ่านโครงการ การเงินมั่นคงกับครอบครัวบัวหลวง เขาระบุว่าการสร้าง ความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการด้านการเงินส่วนบุคคลจะเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่สามารถพึงพาตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง 

     เสียดายที่เราขาดกูรูเศรษฐกิจ อย่างโฆสิต  ในจังหวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเดินออกนอกตำราเศรษฐศาสตร์ จนยากจะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในก้าวต่อไป และโลกจะสะบัดหลุดจากภาวะดอกเบี้ยต่ำไปได้เมื่อไร

แน่นอนว่าโฆสิตไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาย้ำเสมอว่าถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็อย่านานจนกลายเป็นเสียวินัยทางการเงิน

หนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความกังวลของโฆสิต คือการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารทหารไทยเหลือ 0% แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับต้องประกาศ ปรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กลับมาที่ 0.125% เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา( 3 มิ.ย.) นี้เอง เพราะกระแสกดดันที่จากสังคมออนไลน์และกระทรวงการคลัง 

เหตุการณ์นี้สะท้อนชัดว่าสังคมไทยยังรับไม่ได้กับดอกเบี้ยเงินฝาก 0% คำถามคือ เราจะห้ามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อีกกีครั้ง แล้วเราจะพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจในยุคสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะมาถึงได้อย่างไร ขอยืมคำของ “โฆสิต” ที่มักจะพูดเสมอว่า “เราต้องปรับตัว” 

คงถึงเวลาที่เราต้องเตรียมความพร้อม มองหาช่องทางลงทุนทางเลือก หรือยอมรับความจริงว่าโลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว