ไม่มีเจ้านาย ... มีแต่อาจารย์

ไม่มีเจ้านาย ... มีแต่อาจารย์

ตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกัน ท่านอาจารย์คนึงทำให้ผมรู้สึกเป็น 'เจ้าของ' งานทุกเรื่องและเปิดโอกาสให้ผมแสดงความสามารถอย่างเต็มที่

ผมมักจะบอกกับกับใครๆ ว่าผมเคยเป็นลูกน้องท่านอาจารย์คนึง (ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชย)

ในปัจจุบันสำนักงานกฎหมายของท่านอาจารย์คนึงยังคงอยู่แม้ว่าท่านอาจารย์จะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้มีโอกาสพบท่านอาจารย์ในเรื่องงานอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีการจัดประชุมเพื่อเจรจาหาทางยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิบนที่ดินผืนใหญ่ระหว่างลูกความของสำนักงานกฎหมายของท่านอาจารย์กับลูกความของผม โดยท่านอาจารย์ให้เกียรติมาร่วมประชุมเป็นผู้ใหญ่ให้ตามคำร้องขอของทั้งสองฝ่ายที่ให้ความเคารพท่านอาจารย์เป็นการส่วนตัว ซึ่งท่านอาจารย์ยังสามารถเข้าใจเรื่องราวได้เป็นอย่างดีจนผมไม่อยากเชื่อเลยว่าท่านอาจารย์อายุ 92 ปีแล้ว

ผมเข้าทำงานที่สำนักงานกฎหมาย คนึง–ปรก (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อปี พ.ศ. 2526 ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็นสำนักงานกฎหมายชั้นนำด้านคดีความ โดยมีผู้ใหญ่จากวงการยุติธรรมมาช่วยงานกันหลายท่าน แต่ที่อยู่ในฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานมี ท่านอาจารย์คนึง ท่านปรก อัมระนันท์ ศาสตราจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ และศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทูร

ขณะที่ผมมาทำงานที่สำนักงานกฎหมาย คนึง–ปรก นั้น ท่านอาจารย์คนึงอายุประมาณ 60 ปีเศษ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เป็นอาจารย์สอนกฎหมายอาวุโส และเป็นทนายความชื่อดังด้านว่าความ รวมทั้งยังเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรองอธิบดีกรมอัยการ (เทียบเท่ารองอัยการสูงสุดในปัจจุบัน) ด้วย ถือเป็นไอดอลของนักกฎหมายรุ่นเยาว์เลยทีเดียว ส่วนผมมีประสบการณ์การทำงานเล็กน้อย โดยได้ทำงานเป็นทนายความหลังจากเรียนจบปริญญาตรีมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปีครึ่งแล้วไปเรียนปริญญาโทรวมทั้งทำงานเป็นเสมียนทนายอยู่ที่อเมริกาอีก 4 ปี

ในช่วงเวลาประมาณ 4 ปีที่ผมทำงานอยู่ที่สำนักงานกฎหมาย คนึง – ปรก นั้น ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญๆ หลายเรื่อง จนมาถึงงานเรื่องสุดท้ายคือการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการบริหารและจัดการ

บริษัท มาบุญครอง จำกัด (เจ้าของศูนย์การค้ามาบุญครองและธุรกิจอื่นๆ อีกหลายอย่าง) ระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมและผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งถือเป็น Hostile Takeover ขนาดใหญ่ครั้งแรกของประเทศไทย มีการใช้แง่มุมทางกฎหมายเข้าต่อสู้กันอย่างเข้มข้นทั้งในและนอกศาล ซึ่งด้วยการชี้แนะของท่านอาจารย์คนึงและท่านอุดม บรรลือสินธ์ (อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งมาร่วมงานที่สำนักงานกฎหมาย คนึง–ปรก) ผมก็สามารถยึดอำนาจการบริหารและจัดการบริษัทมาให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่ซึ่งเป็นลูกความ คือ กลุ่มโรงแรมดุสิตธานี (คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย) และกลุ่มธนชาติ (คุณบันเทิง ตันติวิท และคุณศุภเดช พูนพิพัฒน์) ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งบริษัท มาบุญครอง จำกัดนั้นปัจจุบันได้แปลงเป็นบริษัทมหาชนและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) โดยยังมีกลุ่มธนชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

การทำงานเรื่องสุดท้ายนี้ทำให้ผมได้รับการชักชวนให้ไปทำงานที่นิวยอร์คกับ Skadden, Arps, Slate, Meagher & Flom ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) ด้านตลาดทุน (Capital Markets) และด้านการเงิน (Banking and Finance) ผมจึงได้เบนเข็มไปเป็นทนายความด้านเหล่านี้ด้วย ซึ่งเมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทยหลังจากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาในช่วงนี้เป็นเวลา 3 ปีเศษ ผมก็ได้เลิกงานด้านว่าความไปและไม่ได้กลับมาทำงานที่สำนักงานกฎหมายของท่านอาจารย์คนึงอีก

ตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกัน ท่านอาจารย์คนึงทำให้ผมรู้สึกเป็น 'เจ้าของ' งานทุกเรื่องและเปิดโอกาสให้ผมแสดงความสามารถอย่างเต็มที่รวมทั้งตัดสินใจด้วยตนเองในหลายรูปแบบ ท่านอาจารย์คนึงไม่เคยทำให้ผมรู้สึกเลยว่าเบื่อหน่ายหรือรำคาญในการที่จะต้องตรวจงานหรือให้คำแนะนำแก่ผมเมื่อผมร้องขอ แม้ว่าผมและท่านอาจารย์จะมีประสบการณ์แตกต่างกันในขณะนั้นถึงกว่า 30 ปีก็ตาม การมอบหมายงานในรูปแบบนี้ของท่านอาจารย์นั้น ผมถือว่าเป็น empowerment ที่สมบูรณ์แบบ เป็นการ teach a man how to fish

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมจะไปกราบสวัสดีและอวยพรปีใหม่ท่านอาจารย์คนึงที่สำนักงานของท่านอาจารย์เป็นประจำทุกปี ท่านอาจารย์คนึงมองผมเป็นลูกศิษย์ ไม่เคยมองผมเป็นลูกน้อง และทุกครั้งที่เจอกันผมจะเรียนท่านอาจารย์เสมอว่าผมมีวันนี้ได้ก็เพราะได้มีโอกาสทำงานให้กับท่านอาจารย์
Our children are only as brilliant as we allow them to be (Eric M. Laventhal)

ท่านอาจารย์คนึงไม่เคยทำตัวเป็นเจ้านาย ... ท่านเป็นอาจารย์ของลูกน้อง