ปรากฏการณ์วิกฤติเงินโลกรอบใหม่

ปรากฏการณ์วิกฤติเงินโลกรอบใหม่

ความมั่งคั่งหุ้นโลก สูญหายไป 16.5 ล้านล้านดอลลาร์

ในช่วง 6 เดือนล่าสุด

ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงมากที่สุดในรอบ12 ปีที่ระดับ 26.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

เจพี มอร์แกน แบงก์ฟันธงว่าอีซีบีจะทุบดอกเบี้ยฝากติดลบหนักขึ้นจาก-0.3% เป็น -0.7%

สวีเดนลดดอกเบี้ยเงินฝากติดลบมากขึ้นเป็น-0.5%

นักลงทุนทั่วโลกแห่ซื้อบอนด์ดอกเบี้ยติดลบ 7 ล้านล้านดอลลาร์ หวังเก็งกำไรส่วนต่างราคาบอนด์

เจเน็ต เยลเลน แบ่งรับแบ่งสู้ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบตามหลังอีซีบี-บีโอเจ

หุ้นแบงก์ถูกถล่มขายหนักร่วงกว่า 25% ปัญหาอาจขาดทุนจากลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง

ความผันผวนของราคาทองโลกพุ่ง 53 ดอลลาร์-เงินเยนแข็งทะลุ 111 ต่อดอลลาร์

ท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดการเงินทั่วโลก ส่วนผลให้นักลงทุนเกิดความหวาดหวั่นกับกระแสการหวนกลับของวิกฤติเงินโลกรอบใหม่ หลังจากที่หุ้นบริษัทน้ำมันร่วง 30% จากจุดพีคเดือนพ.ค.2015 ขณะราคาดิ่งลงต่อเนื่องอยู่ระดับต่ำสุดรอบ 12 ปีมาแตะที่ 26.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นแบงก์ร่วงลงเฉลี่ย 25% จากการถูกถล่มขายในตลาดหุ้นยุโรปส่อวิกฤติระลอก 2 จากปัญหาสินทรัพย์ลงทุนที่เสื่อมค่ารุนแรง นับจากเกิดวิกฤติหนี้ยุโรปปี 2011 ที่นำโดยดอยซ์แบงก์ของเยอรมันที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากความเสี่ยงฟองสบู่ขนาดใหญ่มากจากการลงทุนตราสารอนุพันธ์โลกที่มีจำนวนมหาศาลถึง 64 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 80% ของจีดีพีโลกที่มีอยู่ 78 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 5 เท่าของจีดีพีกลุ่มยูโรโซน หรือเท่ากับ 16 เท่าของจีดีพีประเทศเยอรมนี ส่งผลให้ราคาหุ้นดอยซ์แบงก์ดิ่งลง 28% นับตั้งแต่ตันปีนี้โดยดึงเอาหุ้นแบงก์ยุโรปอื่นเช่น เครดิตสวิสแบงก์ร่วงลง 29.9% บาร์เคลย์สแบงก์ร่วงลง 21.7% ยูบีเอสร่วงลง 20% และอาร์บีเอสร่วงลง 19.6%

โดยในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ได้เป็นจุดเริ่มต้นการตกต่ำ สินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกทั้งตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ ตลาดค่าเงิน ตลาดน้ำมัน และตลาดคอมมอดิตี้ส์ โดยเฉพาะความมั่งคั่งในตลาดหุ้นทั่วโลกที่สูญหายไปถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการที่หุ้นโลกที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องกลายเป็น Bear market โดยที่ดัชนีหุ้นเซี่ยไงฮ้ คอมโพสิต ติดลบถึง 48% DAXเยอรมัน -32% Nikkeiญี่ปุ่น -25% MSCIในหุ้นตลาดเกิดใหม่ -23% และดัชนี S&P500สหรัฐ -15% นอกจากนี้ยังคงเป็นการสะท้อนมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบรุนแรงขึ้นอีกซึ่งถือเป็นการบ่งชี้ภาวะเงินฝืดของโลกที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย และยิ่งเป็นการตอกย้ำเมื่อนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐแถลงต่อคองเกรสสหรัฐอาจมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมนโยบายการเงิน หรือ FOMC จะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปเหตุเพราะตลาดการเงินโลกปั่นป่วนอย่างมีนัยสำคัญ และหันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ หรือ NIRP แทน

ล่าสุดตลาดการเงินโลกที่คาดว่าจะยังคงผันผวนรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ธนาคารกลางสวีเดนปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบมากขึ้นจาก -0.3% เป็น -0.5% ได้ออกมาตอกย้ำถึงทิศทางความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่จะมีขึ้นในอนาคต ในขณะที่เจพี มอร์แกน แบงก์ของสหรัฐออกมาฟันธงว่าธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบีจะทุบดอกเบี้ยฝากติดลบหนักหน่วงขึ้นอีกจาก -0.3% เป็น -0.7% ภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อช่วยแบงก์ให้ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก หลังจากที่พยายามจะเพิ่มเม็ดเงินคิวอีจากที่ดำเนินการอยู่ 1 ล้านล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือแบงก์ยุโรปที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอและมีความเปราะบาง แต่กลับไม่ได้ผล ต้องหันมาบีบรัดผู้ฝากเงินแทนเพราะนอกจากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับแบงก์แทน นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจได้ปรับลดดอกเบี้ยฝากเป็นลบ 0.1% จนทำให้ผลตอบแทนบอนด์อายุ 10 ปีซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงติดลบไปด้วย 0.1% ซ้ำเติมให้เกิดการเทขายหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

ทำให้ต้องจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศร่ำรวย G20 ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนก.พ.นี้ จะมีมาตรการออกมาเพื่อประคองความปั่นป่วนของตลาดการเงิน ไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติรอบใหม่ได้หรือไม่