ความซับซ้อนจากเงื่อนไขการแข่งขัน (1)

ความซับซ้อนจากเงื่อนไขการแข่งขัน (1)

ช่วงรอยต่อของเวลาระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ นอกจากงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลองการเคาท์ดาวน์สู่ปีใหม่ของหลายๆ คนแล้ว

ก็ยังอาจเป็นช่วงเวลาดีๆ ของอีกหลายคน ที่มีเวลาว่างพอจะคิดเล่นเรื่อยเปื่อยเพื่อพยายามสะสางปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ให้กระจ่างขึ้น ก่อนที่จะเดินหน้ารับมือกับปัญหาใหม่ของปีต่อไป

ตัวอย่างปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจของปีที่ผ่านมา ก็คือ เรื่องแนวโน้มการแข่งขันในอนาคตของผู้ประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ ภายหลังจากการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่น 4G  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ผู้ชนะประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ชุดที่ 1 คลื่น 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ในมูลค่า 75,654 ล้านบาท ส่วนผู้ชนะประมูลในชุดที่ 2 คลื่น 905-915MHz คู่กับคลื่น 950-960 MHz คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แชล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในมูลค่า 76,298 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองใบอนุญาตที่ประมูลในครั้งนี้จะมีอายุ 15 ปี และทาง กสทช.ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ด้วย ทำให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร 50% ภายใน 4 ปี และครอบคลุมประชากร 80% ใน 8 ปี และมีข้อกำหนดรายละเอียดในเรื่องอัตราค่าบริการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย 

แม้ว่าผลการประมูลจะสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐได้เกินความคาดหมาย แถมยังได้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดเป็นรายที่สี่ด้วย แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่า การแข่งขันในตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างไร และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการได้ดีมากขึ้นอย่างไร

หลังการประมูลเสร็จสิ้นลง ทุกค่ายก็ออกมาประกาศแผนความพร้อมในการเดินหน้าให้บริการลูกค้าต่อไป โดยเฉพาะในรายใหม่คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด นั้น ก็ได้ประกาศความพร้อมที่จะเดินหน้าโดยอาศัยความร่วมมือสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง และการสนับสนุนด้านโครงข่ายจากบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์หลักของโครงข่ายในรูปของซัพพายเออร์เครดิต ซึ่งได้กำหนดจุดสถานีฐานทั้งประเทศและการติดตั้งเสา โดยขอเช่าบางส่วนจากรัฐวิสาหกิจเดิมที่มีอยู่เสาอยู่แล้ว

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อย ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องค่าใบอนุญาตการใช้คลื่นที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงไว้ว่า ค่าใช้จ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการบนคลื่นความถี่ เป็นค่าใช้จ่ายประเภทต้นทุนคงที่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนส่วนเพิ่มของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า มูลค่าใบอนุญาตที่สูงมากนั้น จึงไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต่อทั้งราคาเปรียบเทียบและปริมาณการให้บริการของผู้ประกอบการในตลาด

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ดีว่า การที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตที่สูงมากจนเกินไปนั้น ก็อาจเกิดผลเสียในแง่ของความผันผวนที่มากขึ้นต่อราคาหุ้นในตลาด และอาจกระทบต่อผู้ใช้บริการในอนาคตได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหลายไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะความคุ้มทุนของผลประกอบการทางธุรกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการรายเดิมซึ่งเป็นรายใหญ่ด้วย ในกรณีนี้นั้น ต่างก็ได้วางกลยุทธ์เพื่อกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด หรือไม่ก็กีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้รับใบอนุญาตไปง่ายๆ โดยไม่เจ็บตัว จึงมักพยายามดันราคาประมูลให้สูงกว่าปกติทั่วไป ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอื่นก่อนหน้านี้ คือกรณีการประมูลคลื่น 3G ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.2000 ที่ราคาประมูลใบอนุญาตจำนวน 5 ใบมีค่าสูงถึง 22.47 พันล้านปอนด์ สำหรับระยะเวลาการครอบครอง 20 ปี ซึ่งเฉลี่ยแล้วคิดเป็นมูลค่า $107.2 ต่อหัวประชากร ซึ่งสูงกว่าการประมูลในประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมัน ($93.1 ต่อหัว) และอิตาลี ($35.2 ต่อหัว) เป็นต้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ลักษณะรูปแบบการประมูลคลื่น 4G ในทั้งสองครั้งหลังที่มีรูปแบบเฉพาะบางประการ เช่น ประเด็นเรื่องที่ประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นที่มีคุณลักษณะรายละเอียดที่แตกต่างกัน (heterogeneous objects) และกรณีที่การจัดสรรใบอนุญาตการใช้คลื่นแต่ละใบนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบภายนอก (allocative externalities) ต่อประสิทธิภาพของระบบโครงข่ายการให้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นได้ และจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันและการให้บริการของผู้ประกอบการในตลาดได้ ซึ่งมีบทเรียนในอดีตของประเทศอื่นๆ จากเกมการแข่งขันการประมูลคลื่นที่มีราคาสูงมากเกินไป ตัวอย่างเช่น อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความล่าช้าในการให้บริการของผู้ประกอบการ หรืออาจเกิดกรณีที่รู้จักกันในชื่อ ‘คำสาปของผู้ชนะ’ หรือ ‘winner’s curse’ เป็นต้น โดยจะขอกล่าวถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในตอนต่อไป