‘จริยธรรมสื่อ’ จะหาได้จากใคร?

‘จริยธรรมสื่อ’ จะหาได้จากใคร?

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไป อบรมการสอนจริยธรรม ที่จัดโดยสำนักข่าวอิศรา ณ โรงแรมสุโกศลมาครับ

ในฐานะผมเป็นอาจารย์นิเทศศาสตร์คนหนึ่งที่จะต้องสอนวิชาเกี่ยวกับจริยธรรมอยู่ทุกปีการศึกษา การไปเข้าฟังการอบรมครั้งนี้ ผมจึงไม่สามารถพลาดได้เพราะมันจะต้องมีประโยชน์สำหรับผมและอาจารย์นิเทศศาสตร์อย่างแน่นอน แต่ปรากฏว่า การอบรมครั้งนี้ ซึ่งผมคิดในตอนแรกว่า น่าจะเป็นประโยชน์เฉพาะอาจารย์นิเทศศาสตร์เท่านั้น กลับเป็นการอบรมที่น่าจะมีประโยชน์กับทุกๆ คน ผมจึงอย่างนำเกร็ดความรู้ เนื้อหาสาระจากการอบรมครั้งนี้ มาเล่าสู่ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน


ในการอบรมครั้งนี้ มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงในแวดวงนักสื่อสารมวลชนมากันอย่างคับคั่ง เริ่มจากท่านวิทยากรท่านแรกที่ผมขอเอ่ยถึง คือ ท่าน รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ท่านให้แง่คิดที่ดีว่า จริยธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้ ไม่จากฝั่งผู้ส่งสาร ก็จากฝั่งผู้รับสาร ทางฝั่งของผู้ส่งสารนั้น ถ้าจะให้ปฏิบัติตามหลักของจริยธรรมแล้วนั้น ต้องอบรมระดับหัวๆ หรือระดับผู้วางนโยบายให้มีสำนึกด้านจริยธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วต่อให้ผู้ที่เป็นแค่ผู้รับคำสั่งคำบัญชาจะมีจริยธรรมสูงส่งขนาดไหนก็คงทำอะไรมากไม่ได้ อย่างมากก็แค่ลาออก ผมมีความคิดเห็นตรงกับท่านอาจารย์เสรี ตรงที่ว่า การปลูกฝั่งจริยธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริหารหรือเจ้าของสื่อ ที่จะต้องประกอบธุรกิจที่ต้องหวังผลกำไร เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะจะต้องมีเรื่องธุรกิจเข้ามาแทรกแซงอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ความหวังของเราจึงตกไปยังผู้รับสื่อ หรือคนเสพสื่ออย่างเราๆ ท่านๆ นั่นเอง


คำถามที่ว่า คนดูจะสามารถทำให้สื่อมีจริยธรรมได้อย่างไร? ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ตอบง่าย แต่ทำยากเหลือเกิน คำตอบง่ายๆ ที่ผมหมายถึงก็คือ “คนดูก็อย่าเสพสื่อที่ไร้จริยธรรมหรือจรรยาบรรณเสียสิ” เพราะลองคนดูไม่เสพสื่อเหล่านี้แล้ว ใครจะกล้าผลิต และที่ผมบอกว่าทำยาก ก็เพราะหลายๆ ปัจจัย อาทิ อะไรที่เป็นจริยธรรม มักไม่ถูกจริตคนไทย มักไม่มีรสชาติหรือไม่ซะใจนั่นเอง ส่งผลให้รายการเหล่านี้มีเรตติ้งต่ำ ผู้ผลิตก็ไม่อยากผลิต ไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทใดก็ตาม หากยกตัวอย่างรายการข่าว รายการข่าวที่มีจริยธรรมต้องเป็นรายการที่เสนอข่าวที่เป็นเรื่องจริง ไม่ใส่ความคิดเห็น หรือ ความคิดส่วนตัวเข้าไปในข่าวที่อาจทำให้คนดูสับสนจนไม่รู้ว่า อันไหนคือเรื่องจริงอันไหนคือความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เล่าข่าว แต่ปรากฏว่า รายการเล่าข่าวที่อ่านข่าวไป ใส่ความคิดเห็นตัวเองไป หรือทำข่าวไป ใส่อารมณ์ตัวเองลงไปกลับได้รับความนิยม นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวแบบเจาะลึก โดยมีกลวิธีการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ไม่ถูกต้อง แต่ได้ข่าวที่เป็น “ดราม่า” ก็ได้รับความสนใจไม่น้อยในกลุ่มคนไทย


ดังนั้น สิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้ 2 สิ่งที่สำคัญ คือ 1. ต้องรู้จักที่จะไม่ยอมรับสิ่งที่ผิด แม้สิ่งที่ผิดนั้นจะทำให้เราได้ประโยชน์ หรือ มีความสุขก็ตาม เช่น เราจะไม่ดูรายการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือ ไม่ดูรายการที่ไม่สร้างสรรค์หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กและเยาวชน เราจะไม่สนับสนุนรายการข่าวที่ไม่ให้เกียรติ เด็กหรือสตรี หรือ เหยื่อ เพียงเพื่อจะสร้างเรตติ้งให้กับรายการตนเอง 2. คนไทยจะต้องรู้จักแยกแยะ ว่านี่คือสิ่งที่ผิด และนี่คือสิ่งที่ถูก ซึ่งไม่เกี่ยวกัน ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก หากคนไทยยังไม่แยกแยะจะก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศอย่างมากมาย คนไทยมักจะพูดว่า “ไปว่าอะไรเขา ถึงเขาจะไม่ดีตรงนี้ แต่เขาก็ทำนู่นทำนี่ให้เรานะ” เมื่อคนไทยคิดกันแบบนี้ คนไม่ดีจึงมีช่องว่างที่จะทำไม่ดีได้อย่างสบาย นั่นคือ เขาก็จะทำความดีบดบังสิ่งที่เขาทำไม่ดีอยู่ข้างหลังตลอดเวลา เช่น เบื้องหน้าสร้างวัด สร้างโรงเรียน ประชาสัมพันธ์ให้ใครต่อใครได้รับรู้ ส่วนลับหลังก็ขี้โกง ฉ้อฉล พอมีใครจับได้ คนก็จะไม่สามารถแยกแยะระหว่างถูกกับผิดได้ และคนก็จะคิดว่า ถูกกับผิดสามารถนำมาหักกลบลบหนี้กันได้พอดี นี่คือสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทย


ในการสัมมนาเชิงจริยธรรมครั้งนี้ยังมีนักวิชาการอีกมาก รวมถึง คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ แห่งสำนักข่าวอิศราที่ฝากข้อคิดดีๆ ทิ้งท้ายการสัมมนาครั้งนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า สมัยนี้หลายคนคิดว่า ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ หลายคนคิดว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังทำหน้าที่เป็นนักข่าว หารู้ไม่ว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ก็แค่ผู้ส่งสารเท่านั้น ดังนั้น ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ แต่ใครๆ ก็เป็นผู้ส่งสารได้ เพียงแค่คลิกไลค์ คลิกแชร์เท่านั้น ผมจึงต้องขอเสริมคุณประสงค์ว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดตอนของสื่อสารมวลชนไทยตอนนี้ คือ ไม่ใช่ใครๆ ที่เป็นนักข่าวได้ แต่นักข่าวบางคนนั่นสิ เป็นถึงนักข่าวแต่ทำไมชอบทำตัวเป็นแค่ผู้ส่งสารเท่านั้น