"คสช.-เอ็นจีโอ" สงครามเย็นครั้งใหม่

"คสช.-เอ็นจีโอ" สงครามเย็นครั้งใหม่

กล่าวสำหรับเมืองไทย อาจมีลักษณะพิเศษในรอบสิบปีมานี้ การทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องยาก แต่การรักษาอำนาจ

รัฐ ด้วย "กำปั้นเหล็ก" ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาพสังคมที่ซับซ้อน และการเกิดขึ้นของ "ขบวนการประชาชน" ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ผ่านมา มันมิอาจสยบได้ด้วยกฎอัยการศึกอย่างเดียว

000 กรณีทหารขอร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยุติการเผยแพร่รายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" เนื่องจากรายการดังกล่าวมีเนื้อหาพาดพิงการรัฐประหาร และกรณีกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ห้ามจัดงาน "ทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" ก็บ่งชี้ว่า คสช.กำลังเผชิญหน้ากับการต่อต้านครั้งใหม่ ที่มิใช่มาจาก "คนเสื้อแดง" หรือกลุ่มต่อต้านใต้ดิน

000 จริงๆแล้ว กลุ่มแกนทางความคิดของ "เอ็นจีโอ" ที่จัดงานทอล์คโชว์ ก็ไม่ใช่เอ็นจีโอสายเสื้อแดง หากแต่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่ต่อต้านระบอบทุนผูกขาด และให้โอกาส "คณะทหาร" ในการปฏิรูปประเทศเสียด้วยซ้ำไป

000 คณะนายทหารแห่ง คสช. ไม่เข้าใจว่า "ภาคประชาชน" นั้นมีการเคลื่อนไหวหลายลักษณะ อย่าง "ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม" หรือ "พีมูฟ" นี่เป็นขบวนมวลชน "ไร้สีเสื้อ" ซึ่งได้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนหลากหลายรูปแบบ แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อเท่ากับ "มวลชนเสื้อสี" แต่ก็พอที่จะทำให้คนจดจำชื่อ "พีมูฟ" อยู่บ้าง

000 มาถึงยุคสมัย คสช.เรืองอำนาจ กลับมีปรากฏการณ์ "น้ำแยกสาย" แต่ไม่ถึงขั้น "ไผ่แยกกอ" เมื่อหลายองค์กรในขบวนการพีมูฟได้ไปร่วมเครือข่ายเอ็นจีโอ 32 องค์กร ประกาศตั้ง "สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป" (สชป.) กลุ่มก่อการตั้งสภาประชาชนฯ นั้น ได้แก่ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.), สภาองค์กรชุมชน, สภาพัฒนาการเมือง ,เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายสลัมสี่ภาค ฯลฯ

000 ขณะเดียวกัน "พีมูฟ" อีกปีกหนึ่งในนาม "เครือข่ายภาคประชาชนอีสาน 12 องค์กร" ได้ออกแถลงการณ์ "ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบู๊ต คสช." โดย สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน เป็นแกนนำ ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และไม่ยอมรับกลไกและเครื่องมือที่เกิดจากรัฐประหาร

000 นอกจาก 12 องค์กรประชาชนภาคอีสาน ก็ยังมี "เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี" และ "สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้" ที่ประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหารเช่นเดียวกัน

000 จะอย่างไรก็ตาม การที่เครือข่ายภาคประชาชนดังกล่าวนี้มีจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมกับ คสช. ก็มิได้หมายความว่าพวกเขาจะกลายเป็น "มวลชนเสื้อสี" พวกเขายังยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อปกป้อง "สิทธิของชุมชน" และสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยต่อไป

000 ตรงกันข้าม ความคิดจะควบคุมสื่อ โดยพุ่งเป้าที่ "ไทยพีบีเอส" ที่เปรียบเสมือน "กระบอกเสียง" ของเอ็นจีโอปีกที่เข้าร่วมการปฏิรูปของ คสช. ย่อมจะทำให้เกิด "แนวร่วมมุมกลับ" และจุดกระแสต้าน คสช.ขึ้นมาในวงกว้าง

000 หากทำการศึกเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่จำแนกมิตร-ศัตรู ไม่ถูก ก็ยากจะยึดกุมชัยชนะนั้นได้ เรื่องนี้มิทราบว่า "ขุนศึกใหญ่" รู้ตัวหรือยัง ฝากแง่คิดนี้ไปยังผู้มีอำนาจทุกคนใน คสช.

OOO ปิดท้ายแต่ยังไม่ปิดฉาก คือ การโยกย้ายครั้งใหญ่สไตล์ "ฟ้าผ่า" ในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพราะแม้จะมีคำสั่งเด้ง ผบช.ก. รองฯ ลามไปถึงผู้การกองปราบ และ ผกก. 1 ป. กับ ผกก.5 ป.แล้ว ดูเหมือนเรื่องวุ่นๆ ในบช.ก.จะยังไม่จบ

OOO ล่าสุดยังมีคำสั่งจาก พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.ก. ให้ยกเลิกการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวนใน บช.ก.ทั้งหมด ทั้งคำสั่งแต่งตั้งแรก เมื่อ 12 มิ.ย.57 และคำสั่งแก้ไข เมื่อ 30 ก.ค.57 ผลก็คือ ขณะนี้ บช.ก.ไม่มีชุดปฏิบัติการสืบสวน ในลักษณะทีมพิเศษอีกแล้ว

OOO คำสั่งของ พล.ต.ท.ประวุฒิ ยังห้อยท้ายว่าให้ทุกกองบังคับการ (บก.) ที่มีการแต่งตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวนแบบเดียวกันนี้ ยกเลิกการแต่งตั้งทั้งหมด ยกเว้นเป็นการแต่งตั้งตามแผนของ ตร. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และต้องขออนุมัติเป็นรายกรณีไป

OOO งานนี้ยังไม่รู้ไปจบที่ตรงไหน?!?