สอน Executive MBA แบบแจ็ค เวลช์

สอน Executive MBA แบบแจ็ค เวลช์

ถ้าใครคิดจะเป็นอาจารย์ที่สถาบันของแจ็ค ต้องรักษาผลงานให้เสมอต้นเสมอปลาย ทำตอนแรกดี ตอนหลังแผ่วคงไม่ได้

ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ในห้องรับรองของสายการบินบริติช แอร์เวยส์เพื่อรอที่จะบินกลับประเทศไทย ครั้นจะนั่งเฉยๆทานของว่าง ดื่มน้ำชากาแฟก็น่าเบื่อไป ดิฉันจึงหยิบนสพ.ไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times)มาอ่านเพื่ออัพเดตข่าวคราวต่างๆ และก็ถูกใจเป็นอย่างยิ่งที่เจอไส้ในของนสพ.ที่เป็นรายงานพิเศษเรื่องการศึกษาหลักสูตรการบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (Executive MBA ที่เรียกย่อๆว่า EMBA) เมื่ออยู่ในวงการนี้ก็ต้องติดตามข่าวเรื่องนี้แบบเกาะติดสักหน่อย โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านเรื่องหลักสูตร EMBA ที่ออกแบบโดย แจ็ค เวลช์ ที่ชื่นชมในความสามารถมานานแล้ว

กว่าสิบปีมาแล้วที่แจ็ค เวลช์ (ชื่อทางการ คือ จอห์น เอฟ. เวลช์ – John F. Welch) ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของจีอี (GE – General Electric) บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันที่มีตำนานความเป็นมากว่าร้อยปี แจ็คดำรงตำแหน่ง CEO ของจีอีในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1981-2001 ซึ่งตลอดสองทศวรรษที่เขาบริหารจีอี เขาได้ทำให้จีอีเติบโตและสร้างผลกำไรอย่างมหาศาล ทั้งตัวแจ็คและจีอีได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำและเป็นบรรษัทระดับโลกที่ยอดเยี่ยมในหลายๆด้าน นิตยสารชื่อดังหลายฉบับอย่างเช่นฟอร์จูน (Fortune Magazine) บิสสิเนสวีค (BusinessWeek) ตลอดจนสถาบันการบริหารจัดการทั่วโลกต่างจัดอันดับแจ็คและจีอีเป็นอันดับหนึ่งด้านบริหารจัดการ ด้านการเงิน การพัฒนาผู้นำและการบริหารบุคลากรอยู่หลายปีติดต่อกัน ถึงกับกล่าวกันว่าหนึ่งในผู้นำการธุรกิจของโลกระดับ”ตำนาน” ของศตวรรษที่ 20ก็คือ แจ็ค เวลช์คนนี้เอง

แม้ว่าจะเข้าสู่วัยเกษียณแต่แจ็คยังคงกระฉับกระเฉงและเป็นที่ต้องการของวงการธุรกิจอยู่เสมอ เขาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง ยังเดินทางไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เคยเขียนคอลัมน์ให้กับบิสสิเนสวีค และนิวยอร์ค ไทมส์ ร่วมกับคือซุซี่ เวลช์ (ศรีภริยาคนที่สาม ซึ่งมีอดีตเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการของวารสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว และเป็นนักเขียนชื่อดัง)อยู่ถึงสี่ปี หลังจากบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆมากมายทั่วโลกเรื่องการเป็นผู้นำและการบริหารธุรกิจ ในปี 2009 แจ็คก็ตัดสินใจเปิดสถาบันสอนการบริหารจัดการเป็นของตัวเองเสียเลย สถาบัน Jack Welch Management Institute ที่ตั้งชื่อตามเขาเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่าสถาบันนี้สอนตามสไตล์ของแจ็ค เวลช์ ใครเชื่อในแบรนด์นี้ก็จงมาร่ำเรียนอย่าได้มัวรีรอ เพราะถ้าใครที่รู้จักแจ็คดีจะรู้ว่าผู้นำคนนี้ที่จบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์เป็นผู้ที่เน้น “ผลลัพธ์” (outcome) c]t“ผลงาน” (performance) เป็นอันดับหนึ่ง เขาไม่สนใจว่าใครจะทำงานหนักขนาดไหน เขาสนใจดูที่ผลงาน และผลงานของจีอีต้องเป็นอันดับหนึ่งและห้ามต่ำกว่าอันดับสองเท่านั้น

ตอนที่เขารับตำแหน่งเป็น CEO ของจีอีใหม่ๆ เป็นช่วงที่จีอีกำลังประสบปัญหารายได้หดเพราะขยายธุรกิจหลายด้านอย่างรวดเร็วเกินไปโดยที่ขาดความชำนาญ แจ็คใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการขายกิจการที่ไม่ทำกำไรและปลดพนักงานที่ผลงานต่ำทั่วโลกออกไปกว่าแสนคน การที่พนักงานถูกปลดออกอย่างมากมายทำให้เขาได้รับสมญานามว่า “Neutron Jack” (ประมาณว่าเหมือนเป็นระเบิดนิวตรอนที่ไปถึงไหน เป็นราบพนาสูร) อย่างไรก็ตามเขาไม่ใช่ผู้นำที่ใจร้ายใจดำปลดพนักงานออกอย่างไม่เป็นธรรม พนักงานได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัวก่อน แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องจากไปพร้อมกับเงินชดเชยที่ยุติธรรมจากบริษัท ใครทำงานดีก็จะได้รับรางวัลอย่างจุใจ ทำให้พนักงานระดับ Talent ไฟแรงมีความพอใจที่จะทำงานภายใต้ระบบแบบแจ็ค นอกจากนี้แจ็คยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา “โครตอนวิลล์ ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำของจีอี” (GE Crotonville – Leadership Development Center) ซึ่งภายหลังเมื่อแจ็คเกษียณจากการเป็น CEO ศูนย์นี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “GE Crotonville – John F. Welch Leadership Development Center/School” เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา CEO คนปัจจุบันของจีอี คือ เจฟฟ์ อิมเมลต์ ตลอดจนผู้บริหารของบริษัทล้วนเคยผ่านการฝึกอบรมที่ศูนย์นี้มาแล้วทั้งสิ้น

ด้วยพื้นฐานชื่อเสียงความสำเร็จและประสบการณ์มากมายของแบรนด์แจ็ค เวลช์ทำให้นสพ. ไฟแนนเชียล ไทมส์ต้องไปสัมภาษณ์ผู้นำคนนี้เพื่อติดตามแนวคิดที่เขาใช้ในการออกแบบหลักสูตร EMBA ที่สถาบันของเขา ในวัย 78 ปี แจ็คหลังค้อมลงเล็กน้อย แต่สีหน้าแววตาและความคิดอ่านยังแจ่มใสและเป็นแจ็คที่เด็ดขาดชัดเจนเช่นเคย เขาเปิดฉากเล่าว่า “ผมใช้เวลากว่า 20 ปีในการสอนผู้บริหารที่ศูนย์ของจีอี ซึ่งผมมีสอนทุกเดือน นอกจากนั้นผมยังสอนที่ MIT อยู่ 5 ปีด้วย ผมชอบกระบวนการสอนนี้นะ” จุดนี้เองที่จุดประกายให้แจ็คสนใจเรื่องการศึกษา

เขามีความเห็นว่า “การสอนการบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหารต้องเน้นเรื่องการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี สถาบันของผมสอน EMBA ผ่านระบบออนไลน์ สถาบันของผมไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแข่งกับมหาวิทยาลัยที่สอน EMBA ในห้องเรียน ผมเคยสอนในห้องเรียนที่มีคนเรียนประมาณ 30-35 คนมาแล้ว แต่ตอนนี้ผมอยู่ในห้องบันทึกการสอนที่มีคนเรียนกับผม 4-500 คนออนไลน์ มันเป็นคนละสเกล (scale) กันเลย” แจ็คดูสุขใจกับการสอนของเขาในเวลานี้มาก การที่เป็นเจ้าของสถาบันของตนเองทำให้ “ผมสามารถออกแบบและปรับปรุงหลักสูตรได้ตลอดเวลา ผมเป็นคนเลือกคณบดีเอง และสามารถควบคุมผลผลิตของผมได้ ปรัชญาการเรียนการสอนของผมก็คือ เราสอนเนื้อหาในวันจันทร์ คุณต้องนำมันไปปฏิบัติในวันอังคาร พอวันศุกร์ก็นำมาเล่าให้ฟัง (ว่าได้ผลอย่างไร)”

วิทยากรที่เขาเชิญมาสอนคืออดีตผู้ร่วมงานและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ เช่น เจมส์ แมคเนอร์นีย์ (James Macnerney) แห่งบริษัทโบอิ้ง (Boeing) และเจฟฟ์ อิมเมลต์ เป็นต้น แจ็คอธิบายว่า “อาจารย์ที่สถาบันของผมพูดคุยเรื่องสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราไม่เอาเรื่องรายงานวิจัยมาพูด” อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการที่วิทยากรบางคนเป็นอดีตผู้บริหาร วิทยากรเหล่านี้จะเก่าเกินไปที่จะทันต่อสถานการณ์โลกธุรกิจปัจจุบันหรือไม่ในแง่ของกลยุทธ์และการบริหารจัดการ ประเด็นนี้ดูจะระคายใจแจ็คอยู่บ้างเหมือนกัน ทั้งนี้เขาตอบกลับมาว่า “ความผิดยิ่งใหญ่ที่สุดที่คนทำในเรื่องของกลยุทธ์ก็คือ คิดเอาว่าการแข่งขันตั้งอยู่บนกลยุทธ์ที่เหมือนเดิม นี่เป็นความผิดคลาสสิคที่เกิดขึ้นเสมอ”

เขากล่าวต่อไปว่า “เราสนทนากันถึงเรื่องนี้ในชั้นเรียนของเราตลอดเลยว่าสภาพแวดล้อมธุรกิจที่แข่งขันกันนั้นมีความเป็นพลวัตสูง (dynamic) ผันแปรสูงตามสภาพแวดล้อม หลักสูตร EMBA ของเราจึงเริ่มด้วยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของสนามของเกมธุรกิจก่อน ซึ่งผมรู้ว่าวิธีนี้ใช้ได้ผล” คำตอบของแจ็คอาจจะไม่ตรงกับคำถามในเรื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการมีวิทยากรเป็นอดีตผู้บริหาร แต่ถ้าเราวิเคราะห์ข้อมูลที่เขาให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียล ไทมส์ในภาพรวม เราก็จะพอเข้าใจได้ว่าแจ็คพยายามจะบอกว่าการออกแบบหลักสูตร EMBA สำหรับผู้บริหารที่ต้องทำงานไปด้วย ศึกษาหาความรู้ไปด้วย และดูแลครอบครัวไปด้วยนั้นเป็นชีวิตที่มีภาระหนักหน่วง ไม่มีเวลาเหลือมากนักในแต่ละวัน คนพวกนี้ต้องการเรียนรู้และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ทำงานให้เกิดผลให้ได้ในทันที การเน้นเรื่องกรณีศึกษาจริงจากประสบการณ์ของวิทยากรหลากสาขาธุรกิจและหลากวัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแสดงให้เห็นสภาพสนามธุรกิจของแต่ละช่วงเวลาที่ต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

และจากประสบการณ์ของดิฉันเองที่เห็นอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่านที่ทำการฝึกอบรมให้ผู้บริหารระดับสูง อาจารย์เหล่านั้นใช้กรณีศึกษาทั้งใหม่และเก่าในการเรียนการสอน ผู้บริหารหลายท่านคาดหวังว่าจะได้เรียนแต่กรณีศึกษาใหม่เพราะต้องการได้ “กลยุทธ์ที่เป็นสูตรสำเร็จ” ไปใช้ในการบริหารหรือแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ไม่มี “กลยุทธ์แบบสูตรสำเร็จ” ในการบริหารหรอกค่ะ มีแต่สูตรสำเร็จที่เป็นหลักการในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของสนามธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งถ้าวิเคราะห์ได้อย่างรอบด้านและแม่นยำ (ทั้งนี้ต้องทำการบ้านหาข้อมูลและวิจัยศึกษาอย่างมีมาตรฐาน – อันเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลาบ้างและผู้บริหารหลายท่านไม่อยากรอและเห็นว่าเป็นเรื่องเสียเวลา) ก็จะสามารถเลือกสรรหรือพัฒนากลยุทธ์ได้เหมาะกับสถานการณ์ คนส่วนมากให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ และอยากได้กลยุทธ์ไม้เด็ดจากผู้นำขั้นเทพเพื่อจะได้นำไปใช้บ้าง โดยหวังว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน แต่หารู้ไม่ว่าหัวใจของการสร้างกลยุทธ์นั้นคือการวิเคราะห์สนามธุรกิจต่างหาก การได้ศึกษากรณีศึกษาทั้งในอดีตและปัจจุบันร่วมด้วยกันจึงเป็นการเปิดมุมมองให้เห็นสถานการณ์หลายๆแบบที่ต้องใช้กลยุทธ์ที่ต่างกัน

ประเด็นสุดท้ายที่แจ็คให้สัมภาษณ์ก็คือเรื่องการคัดสรรและบริหารอาจารย์ที่สถาบันของเขา แจ็คใช้ระบบบริหารอาจารย์เช่นเดียวกับที่เขาบริหารพนักงานที่จีอี “ที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่จะมีการจ้างอาจารย์เป็นการประจำถาวร ไม่มีการประกันว่าอาจารย์จะมีงานทำตลอดไป เรามีการประเมินอาจารย์โดยผู้มาเรียนสามครั้งต่อวิชา ถ้าผลประเมินออกมาไม่ดี อาจารย์ก็ต้องออกไป”

ถ้าใครคิดจะเป็นอาจารย์ที่สถาบันของแจ็คแล้วคิดว่าถ้าทำงานในตอนแรกได้ดีจนมีตำแหน่งใหญ่โต พอตอนหลังจะเริ่มแผ่วบ้างก็ได้ ก็ขอบอกว่าไม่ได้ค่ะ ต้องรักษาผลงานให้เสมอต้นเสมอปลาย และยิ่งเมื่อผู้เรียนเป็นผู้บริหารที่มีงานประจำทำเต็มเวลาและต้องจัดเวลามาเรียนตอนกลางคืน อาจารย์ก็ต้องจัดเวลาที่จะตอบอีเมล์หรือรับโทรศัพท์ผู้เรียนในเวลาค่ำด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในการตรวจงานและตรวจข้อสอบของนักศึกษา อาจารย์ก็ต้องให้คำวิจารณ์ที่มีรายละเอียดว่านักศึกษาทำได้ดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่เขียนแค่ว่า “ทำได้ดี” (Nice job) เป็นอันจบ แบบนี้แจ็คก็ไม่รับค่ะ

แจ็คย้ำเป็นคำสุดท้ายว่าเรื่องของการให้คำประเมินผลงาน (Feedback)เป็นเรื่องสำคัญที่ห้ามละเลยเป็นอันขาด ทั้งพนักงานและนักศึกษาต่างต้องการคำประเมินที่มีคุณภาพเพื่อที่จะได้นำไปพัฒนาตนเองได้อย่างมีคุณภาพ “ทุกวันนี้ผมทำเรื่องนี้ (การศึกษา) ใช่เพราะต้องการเงิน ผมมีพอแล้ว แต่ผมทำเพราะผมรักที่จะทำ เร็วๆนี้ผมวางแผนจะเชิญนักศึกษา EMBA มาพบปะพูดคุยกับผมและผู้บริหารสถาบันเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาด้วย”...นี่แหละคือแจ็คที่เกาะติดความต้องการของลูกค้าเสมอ