สงครามอิรักรอบใหม่ เขย่าสันติภาพโลกอีกรอบ

สงครามอิรักรอบใหม่ เขย่าสันติภาพโลกอีกรอบ

แผนที่จากเว็บไซต์ BBC ชิ้นนี้ แสดงจุดที่กองกำลังติดอาวุธรุกเข้าใกล้สู่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก แล้ว

...สถานการณ์กำลังทำท่าจะร้อนแรง ยืดเยื้อ และสร้างความสั่นสะเทือนต่อเสถียรภาพของสันติภาพโลกไม่น้อย

สงครามรอบใหม่ในอิรัก อาจจะจบลงด้วยการแบ่งประเทศเป็นส่วนๆ และความรุนแรงจะกลายเป็นเรื่องปกติ ตอกย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐล้มเหลวอีกรอบหนึ่งในความพยายามที่จะแก้ปัญหาในอิรัก เพราะว่าตอนถอนทหารออกเมื่อปลายปี 2011 นั้น ประธานาธิบดีโอบามา บอกว่า ทหารอิรักจะดูแลตัวเองได้แล้ว

แต่วันนี้ กลุ่มติดอาวุธ ISIS (Islam State in Iraq and Syria) ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ จับมือกับกลุ่มหัวรุนแรงมุสลิมนิกายสุหนี่ ซึ่งไม่พอใจรัฐบาลกลางที่แบกแดด เพราะเชื่อว่ามุสลิมนิกายชีอะต์ได้ผูกขาดอำนาจในการปกครองประเทศ

กองกำลัง ISIS สามารถยึดเมืองหลักๆ ทางเหนือของประเทศได้หลายจุด เช่น Mosul (เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ) กับ Tikrit ตามมาด้วยเมือง Tal Afar หลังจากที่เมื่อปลายปีก่อนได้เริ่มรุกด้วยการเข้าเมืองในภาคกลาง คือ Falluja และบางส่วนของเมือง Ramadi

หากดูจากแผนที่แล้ว จะเห็นว่า เมืองเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางเหนือของอิรัก และหากว่ารัฐบาลของนายกฯ นอรี มาลิกิ ไม่สามารถจะตีคืนเมืองเหล่านี้ได้ อิรักจะถูกแบ่งเป็นส่วนเหนือที่อยู่ใต้ ISIS และ สุหนี่ ขณะที่ทางใต้ซึ่งมีเมืองหลวงแบกแดดเป็นแกนหลักจะอยู่กับฝ่ายชีอะต์

เท่ากับเป็นการเริ่มต้นศึกสงครามรอบใหม่ของอิรักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีคนล้มตายกันอีกมาก และจะมีผลต่อการเมืองในภูมิภาคนั้นอีกไม่น้อย

อเมริกาทำอย่างไร?

ประธานาธิบดีโอบามา บอกว่า จะไม่ส่งทหารมะกันภาคพื้นดินกลับเข้าไปอิรักแน่นอน แต่ก็ได้ส่งนาวิกโยธิน 275 คน ไปคุ้มกันสถานทูตอเมริกันที่แบกแดด อีกทั้งได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบอีกสองลำเข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย เพื่อส่งสัญญาณว่า ถ้าจำเป็นอาจจะถล่มทางอากาศช่วยเหลือทหารของรัฐบาลอิรักสู้กับฝ่ายติดอาวุธจากทางเหนือ

ผมจะไม่แปลกใจ หากว่าสหรัฐจะส่งเครื่องบินไร้คนขับแบบ Drone ขึ้นถล่มกลุ่ม ISIS ถ้าเห็นว่าสถานการณ์เสื่อมทรุดจนรัฐบาลอิรักเอาไม่อยู่

เริ่มด้วยการส่งเครื่องบินลาดตระเวน F-18 จากเรือบรรทุกเครื่องบินเหนืออิรัก เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะช่วยสกัดการรุกคืบของฝ่าย ISIS ให้ถอยร่น และที่สำคัญคือไม่ให้เข้ายึดเมืองหลวงได้อย่างไร

ISIS ซึ่งประกาศตัวเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ประกาศว่า ต้องการจะสร้างรัฐอิสลามซึ่งกินพื้นที่อิรักและซีเรีย อ้างว่าตนสามารถควบคุมพื้นที่ใน 16 จังหวัด ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศใหม่แล้ว

กองกำลังจริงๆ ของกลุ่มนี้ ประมาณกันว่ามีอยู่ราวๆ 3,000 ถึง 5,000 คน และมีหัวหน้าชื่อ Abu Bakr al-Baghdad ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในแวดวงระหว่างประเทศนัก แต่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่เคยคึกคักในบริเวณที่กลุ่มนี้กำลังยึดเป็นฐานปฏิบัติการอยู่

ที่น่าเป็นห่วงอีกด้านหนึ่ง ก็คือ การที่กองกำลังติดอาวุธนี้เข้าไปล้อม และถล่มโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอิรัก ที่เมือง Baiji ทางเหนือ

ข่าวสับสนว่า ทหารรัฐบาลสามารถสกัดกั้นการรุกของกลุ่มต่อต้าน เข้าไปยึดโรงกลั่นแห่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ข่าวเรื่องนี้ทำให้เกิดความหวาดกลัวไปทั่วโลก หวั่นว่าราคาน้ำมันดิบจะพุ่งพรวดพราด เพราะความกลัวว่าน้ำมันจากอิรักสู่ตลาดโลกจะหดหายไป เพราะความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่

มีคำอธิบายทางผู้เชี่ยวชาญว่า บ่อน้ำมันและโรงกลั่นส่วนใหญ่ของอิรักอยู่ทางใต้ที่รัฐบาลยังควบคุมอยู่ ส่วนทางเหนือที่ฝ่ายตรงข้ามสามารถยึดได้หลายเมืองนั้น ไม่ได้เป็นแหล่งขุดและกลั่นน้ำมันมากนัก

แต่...สถานการณ์ก็ไม่น่าไว้วางใจอยู่ดี เพราะตราบเท่าที่การสู้รบยังดำเนินไปอย่างดุเดือดและรุนแรงเช่นนี้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้...ทั้งนั้น