คนรุ่นใหม่กับธุรกิจใหม่

คนรุ่นใหม่กับธุรกิจใหม่

ค่านิยมในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีบ้านเราไม่เติบโตอย่างที่คาดหวัง

ตรงกันข้ามกับในหลายประเทศชั้นนำที่อาศัยธุรกิจขนาดกลางเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น เยอรมนี ออสเตรเลีย

ธุรกิจเหล่านี้อาจมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีความสามารถหลัก (Core Competency) สูง จึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวบริษัทได้มากมาย ส่งผลให้ความมั่นคงและสวัสดิการที่บริษัทมีให้จึงไม่แพ้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของเขาเข้มแข็งและมีอัตราการเติบโตสูงมากในแต่ละปี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่เรากำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) ที่จำเป็นต้องบ่มเพาะภูมิปัญญาและความรู้เพื่อใช้เป็นกลไกสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด อาจหวังพึ่งพาแต่บริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้ เพราะมีระบบระเบียบต่างๆ มากมายจนไม่คล่องตัวเหมือนบริษัทขนาดกลาง-เล็ก

สอดคล้องกับนโยบายของสถาบันการศึกษายุคนี้ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าอดีต จินตนาการของนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่จึงเปิดกว้างอย่างเต็มที่ แต่หากโครงสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่พร้อม เราก็จะทำได้เพียงให้เขามาเป็นพนักงานทั่วไปในบริษัทขนาดใหญ่ ที่ไม่มีโอกาสได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นของตัวเอง

ในขณะที่บริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีอิสระมากกว่าและน่าจะเอื้อให้เขามีโอกาสได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมากกว่าก็มักจะมีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุน เพราะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ไม่ง่ายนัก จนเด็กรุ่นใหม่ที่มีไอเดียมากมายแต่กลับไม่มีทางออกในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง

บริษัทขนาดใหญ่ที่ติดขัดด้วยกฎระเบียบข้อบังคับที่อาจทำให้รับความเสี่ยงได้จำกัด จึงต้องทบทวนตัวเองเสียใหม่เพื่อหาทางเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ เช่นเดียวกับธนาคารและสถาบันการเงินก็ต้องยืดหยุ่นพอที่เปิดรับแผนธุรกิจแปลกใหม่จากธุรกิจเอสเอ็มอี

บริษัทใหม่ๆ ที่ก่อตั้งโดยเด็กรุ่นใหม่ ที่กล้าได้กล้าเสีย จึงอาจเป็นโอกาสสร้างธุรกิจขนาดเล็กที่เติบโตเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ในอนาคตหากมีคนสนับสนุนเขาเพียงพอ บทบาทของผู้ใหญ่ในวันนี้ที่อาจเคยดูแคลนว่าเขาใจเร็วด่วนได้หรือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ต้องเปลี่ยนมุมมองของตัวเองเสียใหม่

เพราะผมเชื่อว่าพลังของเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้เองจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มขั้นสูง (High Value Added) ให้สินค้าและบริการใหม่ๆ ในบ้านเราเช่นเดียวกับที่เห็นตัวอย่างมากมายในต่างประเทศ ซึ่งการแข่งขันด้วยสิ่งที่จับต้องได้กำลังจะเปลี่ยนเป็น Intangible Asset ซึ่งก็คือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีบทบาทมากขึ้นทุกวัน

และผมเชื่อว่าพลังของเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ที่อาจเป็นเพียงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เปรียบเหมือนเสาต้นเล็กๆ อาจเทียบไม่ได้กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลายที่เป็นเหมือนเสาตอม่อขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ

แต่หากวันหนึ่งมีวิกฤติการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจนเสาตอม่อเหล่านี้เสียหายจนอาจล้มลง เสาต้นเล็กๆ เหล่านี้หากมีจำนวนมากพอก็อาจช่วยกันค้ำจุนให้เศรษฐกิจของเรายังคงอยู่ได้ ไม่ล่มสลายลงเหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตที่ส่งผลกระทบกับคนทั้งประเทศ

คนรุ่นใหญ่จึงต้องปรับตัวและปรับมุมมองต่อเด็กรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่นใหม่เองก็ต้องหาตัวเองให้เจอและกล้าที่จะแปรความฝันของตัวเองให้ออกมาเป็นจริงได้ แม้ว่าจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจมากมายเพราะแม้จะมีความเสี่ยงสู่ง แต่โอกาสไปสู่ความสำเร็จของคนรุ่นนี้มีมากกว่าในอดีตหลายเท่า