น้ำตาของผู้นำ

น้ำตาของผู้นำ

นับเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่น้ำตาได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงทางการเมือง

และถือเป็นครั้งแรกๆ ที่สังคมไทยได้เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศหลั่งน้ำตาร้องไห้ปรากฏต่อสาธารณชน

ถึงแม้ว่า จะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แต่การร้องไห้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องปกติที่ผู้นำ (ระดับประเทศ) คนใดจะสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยเสมอไป

ว่ากันว่า ผู้นำคนดังๆ ของโลกในอดีตที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็ง มาดมั่นหรือเด็ดขาดอย่างวินส์ตัน เชอร์ชิล (อังกฤษ) เลนิน (รัสเซีย) อด๊อฟ ฮิตเลอร์ (เยอรมัน) ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ (สหรัฐฯ) นายพลโตโจ (ญี่ปุ่น) หรือริชาร์ด นิกสัน (สหรัฐฯ) โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่พระสงฆ์หรือซามูไรที่ไม่รู้จักการร้องไห้ แต่ในชีวิตจริงแล้ว ผู้นำเหล่านี้ล้วนแต่เคยผ่านการหลั่งน้ำตา ที่ต้องกระทำอยู่หลังฉากไม่อาจให้ใครพบเห็นได้

โลก (การเมือง) ได้มีโอกาสได้เห็นเป็นประจักษ์ถึง “พิษ” ของน้ำตาเป็นครั้งแรกๆ ในปี 2515 เมื่อเอ็ดมุนด์ มัสกีฝ่าฝืนกฎเหล็กนี้ เผลอตัวร่ำไห้สะอื้นต่อหน้าธารกำนัลในระหว่างการปราศรัยหาเสียงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในนามพรรคเดโมแครต

ไม่ว่าจะร่ำไห้ด้วยเหตุผลใด แต่น้ำตาหยดนั้นได้ทำลายความหวังทางการเมืองของมัสกีอย่างสิ้นเชิง จากผู้สมัครเต็งจ๋าที่มีโอกาสเป็นผู้นำประเทศคนต่อไปมากที่สุด มัสกีถูกสังคมอเมริกันมองว่า ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประเทศเพราะไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จำเป็นมากๆ สำหรับผู้นำ สุดท้ายต้องถอนตัวออกไปอย่างน่าขมขื่นที่สุด

ว่ากันว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลทำให้ “กฎมัสกี” คลายความขลังลงไปในสังคมการเมืองของสหรัฐฯก็คือบทบาทและภาพพจน์ของฮีโร่ก้ามโตอย่าง “แรมโบ้” ในภาพยนตร์เรื่อง First Blood ที่เริ่มออกฉายตั้งแต่ปี 2525

ถึงแม้จะมีบุคลิกที่เข้มแข็งและหาญกล้า แต่แรมโบ้ก็มีด้านที่เป็นมนุษย์ที่สามารถร้องไห้เสียใจได้ ความนิยมในตัวแรมโบ้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมไม่มากก็น้อย และสร้างความหมายใหม่ให้กับน้ำตาในวัฒนธรรมอเมริกัน ค่อยๆ ทำให้การร้องไห้ของผู้ชายไม่ใช่เป็นน่าอับอายขายหน้าอีกต่อไป

หลังจากนั้น น้ำตากับบุรุษเพศกลายเป็นของคู่กันอย่างไม่น่าเชื่อ และแพร่ขยายไปสู่โลกความเป็นจริงมากขึ้น จากวงการบันเทิงสู่วงการกีฬาและวงการการเมือง

ดูเหมือนว่าบิลล์ คลินตันคือผู้เข้าใจและประยุกต์น้ำตาเพื่อเป้าหมายทางการเมืองได้อย่างชาญฉลาดที่สุด พูดกันว่า คลินตันเป็นคน “แพ้กล้อง” และสามารถหลั่งหรือบีบน้ำตาได้ทุกเมื่อที่โอกาสเอื้ออำนวย (ราวกับดาราฮอลลิวูด) โดยเฉพาะความสามารถในการเปลี่ยนแปลงอารมณ์จากหัวเราะเริงร่าให้กลายเป็นน้ำตาแห่งความเศร้าได้ในบัดดล (เหมือนเช่นที่สังคมไทยกำลังวิพากษ์กรณีล่าสุดของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

ความสำเร็จ (ทางการเมือง) ของ “น้ำตาคลินตัน” กลายเป็นแบบอย่างให้ผู้นำสหรัฐฯในทุกระดับหันมาใช้น้ำตาเป็นเครื่องมือหรืออาวุธทางการเมืองที่จะขาดเสียมิได้ ภาพน้ำตาไหลอาบแก้มของจอร์จ บุช และบารัก โอบามา กลายเป็นภาพบวกที่มีพลัง (ทางการเมือง) มากๆ มีส่วนทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างน่ามหัศจรรย์

เช่นเดียวกันกับในสังคมญี่ปุ่นที่เคยยึดหลักซามูไรอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอดและถือว่าการร้องไห้ต่อหน้าผู้อื่นเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นที่สุด แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำมากๆ ในช่วงสองทศวรรษก่อน กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มีส่วนพังทลายกฎเหล็กทางวัฒนธรรมนี้ ภาพของผู้นำญี่ปุ่นแบบฮาร์ดแมนเดิมๆ ค่อยๆจางหายไป และภาพของผู้นำที่กำลังร้องไห้ฟูมฟายเข้ามาแทนที่จนชินตา

ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ผู้นำร้องไห้ด้วยเหตุผลและแรงจูงใจต่างๆ เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเฮลมุท โคห์ล (เยอรมันตะวันตก), มิคาอิล กอร์บาเชฟ (รัสเซีย), เนลสัน แมนเดล่า ผู้นำผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์แอฟริกาใต้, จูนิชิโร โคอิซูมิ (ญี่ปุ่น), หลุยส์ ดาซิลวา (บราซิล), กอร์ดอน บราวน์ และเดวิด คาเมรอน (อังกฤษ), บ๊อบ โฮว์ค และเควิน รัดด์ (ออสเตรเลีย), นายพลนอร์แมน ชวาร์ซคอฟ ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯในศึกสงครามอิรัก, ยัดเซอร์ อาราฟัด (พีแอลโอ, ปาเลสไตน์), ฮามิด คาร์ไซ (อัฟกานิสถาน), ฏอยยิบ อัรดูฆอน (ตุรกี), เซบาสเตียน ปิเนรา (ชิลี), เวินเจียเป่า (จีน), สมเด็จพระสันตะปาปาหรือโป๊ปเบเนดิกก์, กษัตริย์ฮารัลด์แห่งนอร์เวย์ รวมทั้งฮุนเซน

ในขณะเดียวกัน ภาพของผู้นำหญิงที่ร้องไห้หลั่งน้ำตาก็มีปรากฏให้เห็นบ้าง อินทิรา คานธี (อินเดีย) หลั่งน้ำตาด้วยความดีใจที่ได้พบอับเดล นัสเซอร์ผู้นำอียิปต์ เพื่อนสนิทชิดเชื้อร่วมอุดมการณ์ของเยาวหะราล เนห์รูบิดาและอดีตผู้นำคนแรกของอินเดีย เช่นเดียวกับเบนาซี บุตโตที่หลั่งน้ำตาออกมาทันทีที่ได้กลับคืนสู่ปากีสถานอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ต้องลี้ภัยในต่างแดนร่วม 8 ปี รวมทั้งน้ำตาแห่งความดีใจของอองซานซูจีที่ได้มีโอกาสได้พบหน้าลูกชายเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ

มาร์กาเรต แธตเชอร์ ผู้นำ “สตรีเหล็ก” ของอังกฤษก็ยังมีวันที่ร้องไห้ (หลังฉาก) ถึงสองครั้งสองคราอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากต้องก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศและวางมือปิดฉากความเป็นนักการเมืองอาชีพที่อยู่ในสายเลือด เช่นเดียวกับกรณีของแพท ชโรเดอร์ที่ร่ำไห้ออกมาในระหว่างประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในการชิงชัยเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2531

ความสูญเสียของชีวิตผู้คนยังคงเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำหญิงหลายๆ คนหลั่งน้ำตาได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของกลอเรีย อาโรโย่ แห่งฟิลิปปินส์, สมเด็จพระราชินี แห่งนอร์เวย์, จูเรีย กิลลาร์ด แห่งออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ แห่งอังกฤษ

การร้องไห้หลั่งน้ำตาของผู้นำหญิงเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นพิษอะไรมากนัก ส่วนสำคัญหนึ่งก็เนื่องมาจากมูลเหตุจูงใจที่สมเหตุสมผลที่ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่ประการสำคัญ หากหลั่งน้ำตาไม่ถูกกาลเทศะแล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า น้ำตาจะกลายเป็นพิษทันที

ในวันที่ต้องเสียน้ำตาเพราะเรื่องราวฉาวโฉ่ทางเพศของบิลล์ คลินตันผู้เป็นสามี ดูเหมือนว่าสังคมอเมริกันจะเห็นใจและเข้าใจฮิลลารี คลินตันอย่างมาก แต่น้ำตาที่ฮิลลารีหลั่งออกมาในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งแข่งกับบารัก โอบามาเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2551 กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ฮิลลารีอาจจะคาดการณ์ผิดพลาดว่า น้ำตาจะเป็นอาวุธเด็ดที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ แต่ปรากฏผลตรงกันข้าม พิษของน้ำตาได้กัดกร่อนภาพพจน์ความเป็นสตรีเหล็ก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ความหวังของฮิลลารีในการเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศต้องพังทลายลงไปอย่างน่าเสียดาย สะท้อนให้เห็นว่า น้ำตามีประโยชน์เฉพาะคนชื่อ “บิลล์ คลินตัน” ไม่ใช่ “ฮิลลารี คลินตัน”

เช่นเดียวกับกรณีของฮิลลารี ในวันที่มากิโกะ ทานะกะหลั่งน้ำตา (เมื่อปี 2545) เพราะความสะเทือนใจที่ได้เห็นภาพความทุกข์ยากลำบากของผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานนั้น ยากที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “น้ำตาจระเข้” แต่ในวันที่หลั่งน้ำตาสะอื้นกลางสภาเมื่อถูกตราหน้าจากผู้อาวุโสทางการเมืองว่าเป็นคนโกหกมุสาเชื่อถือไม่ได้กลับปรากฏผลตรงกันข้าม

ว่ากันว่า น้ำตาหยดนั้นกลายเป็นพิษที่อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย จนทำให้ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งและแทบจะหมดสิ้นอนาคตทางการเมืองไปเลย ทั้งๆ ที่ ณ เวลานั้น มะกิโกะคือรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของญี่ปุ่น เป็นนักการเมืองหญิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

เมื่อกลับมาพิจารณาในสังคมไทยแล้ว จะเห็นได้ว่า ด้านหนึ่งดูเหมือน สังคมไทยจะมีวัฒนธรรมความเชื่ออย่างฝังลึกว่า “เป็นเสือต้องไม่ร้องไห้” แต่ไม่น่าเชื่อว่า กฎเหล็กนี้กลับไม่สามารถใช้กับผู้นำหัวใจเหล็กหลายๆ คนได้ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้นำไทยหลายๆ คนเคยหลั่งน้ำตาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน จอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้รับฉายาว่า “จอมพลเจ้าน้ำตา” หลังจากที่แถลงด้วยน้ำตานองหน้าถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องทำรัฐประหารปี 2490 เหมือนเช่นกรณีของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินที่อัดอั้น “อยากจะร้องไห้ที่เห็นบ้านเมืองเป็นอย่างนี้” จนนำไปสู่การตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2549

ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นชื่อว่าเด็ดขาดที่สุดในบรรดาผู้นำไทยทั้งหมด ก็ยังมีวันต้องหลั่งน้ำตา เป็นการแถลงด้วย “น้ำตาของลูกผู้ชาย ของเลือด ของความคับแค้น และการผูกใจเจ็บชั่วชีวิตชาตินี้และชาติหน้าต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย” ภายหลังที่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกรรมสิทธิ์ของกัมพูชาในปี 2505 แม้กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เจ้าของฉายา “สฤษดิ์น้อย” เพราะความเด็ดขาดน่าเกรงขาม ก็เคยน้ำตาคลอปรากฏให้เห็นต่อสาธารณชน เพราะสะเทือนใจและเจ็บปวดที่เห็นกำลังพลของกองทัพที่ต้องบาดเจ็บพิการและสูญเสียชีวิต

ครั้งหนึ่ง คุณเนวิน ชิดชอบก็ยังเคยกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือพร้อมกับน้ำตาคลอเบ้าเพื่อบอกกล่าวไปถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า “มันจบแล้วครับนาย” เช่นเดียวกันกับ “นายใหญ่” ที่มีมูลเหตุให้เชื่อได้ว่า เคย (แอบ) น้ำตาซึม เป็นน้ำตาแห่งความเศร้าโศกเมื่อจำเป็นต้องหย่ากับคุณหญิงพจมานภรรยา เป็นน้ำตาแห่งความตื้นตันใจที่ได้กลับคืนสู่มาตุภูมิในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และเป็นน้ำตาแห่งความยินดีระคนเศร้าที่ไม่สามารถมาร่วมงานมงคลของลูกสาวคนกลางด้วยตนเองได้

แม้กระทั่ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ก็เคยปรากฏภาพขณะกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ นัยน์ตาแดงก่ำคล้ายจะร่ำไห้เพราะผิดหวังที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาราชการแทน ผบ.ตร.

ในฟากของพรรคประชาธิปัตย์เอง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็เคยยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 “คือคืนที่ผมทุกข์ที่สุดตั้งแต่เป็นนายกฯ มาจนถึงวันนี้...คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมาก” ในขณะที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณเองก็ยังเคยหลั่งน้ำตา (เพื่อผลทางการเมือง?) เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าหากน้ำตาไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นจริงๆ เหมือนคำกล่าวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่อย่างน้อยที่สุด น้ำตาก็สามารถทำให้ชนะการเลือกตั้งได้เช่นกัน และคนที่รู้จักเลือก “เล่น” กับน้ำตาได้ดีที่สุด คนหนึ่งก็น่าจะเป็นม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรที่เชื่อว่าการหลั่งน้ำตาหลายครั้งหลายหนเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หากหม่อมสุขุมพันธุ์ได้ชื่อว่าสร้างสถิติเป็นผู้นำชายที่หลั่งน้ำตาบ่อยครั้งที่สุดในสังคมการเมืองไทย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่หลั่งน้ำตามากที่สุดไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งตลอดช่วงระยะเวลาสองปีที่ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ

ไม่นานหลังจากก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศในเดือนสิงหาคม 2554 ประเทศไทยก็ประสบกับภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ถึงกับน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้าถึงสามครั้งสามครา

ต่อมา สังคมไทยก็มีโอกาสได้ยินเสียงสั่นเครือได้เห็นน้ำตาของคุณยิ่งลักษณ์อีกหลายครั้งหลายคราต่างกรรมต่างวาระ ตั้งแต่น้ำตาคลอเมื่อยอมรับความพ่ายแพ้ของการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. น้ำตาคลอเมื่อได้พบปะกับกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่มาสนับสนุนการนิรโทษกรรม หรือน้ำตาคลอ (ของความเป็นแม่) เมื่อกล่าวถึงลูกชายที่ตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งทางการเมือง (?)

น้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอเบ้าของคุณยิ่งลักษณ์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา บ้างก็ว่า “ดีแต่ร้อง” ขาดความเป็นผู้นำและดูอ่อนแออ่อนไหวเกินไปสำหรับความเป็นผู้นำประเทศ จนถึง “น้ำตาเสแสร้ง” แกล้งร้องดราม่าขอความเห็นใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เดินสายหาเสียง คุณยิ่งลักษณ์ก็เคยหลั่งน้ำตา (โดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์) เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ “พี่ชาย” และน้ำตาคลอซึ้งใจเมื่อได้กลับบ้านที่เชียงใหม่ ประหนึ่งเพื่อสื่อให้เห็นว่า การ “กลับบ้าน” จะมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคุณทักษิณ

โดยข้อเท็จจริงที่ขมขื่นสำหรับผู้หญิงแล้ว ไม่ว่าจะในสังคมการเมืองไหนวัฒนธรรมใด น้ำตายังคงความหมายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ สัญลักษณ์แห่งความอ่อนแอ เป็นความอ่อนแอทั้งทางด้านสภาพจิตใจและด้านอารมณ์

ในขณะที่น้ำตากลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของผู้นำชายที่จะขาดเสียมิได้ แต่สำหรับผู้นำหญิงแล้วกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เป็นสองมาตรฐานที่ดำรงอยู่จริงเกือบในทุกมุมโลกแม้ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำตาจะกลายเป็นพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากว่าร้องไห้โดยไม่ถูกกาลเทศะหรือพร่ำเพรื่อมากเกินไป

คุณยิ่งลักษณ์อาจจะไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้น้ำตาเป็นอาวุธ (ทางการเมือง) เพื่อสยบบุรุษเพศ เหมือนเช่นคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจูนิชิโร โคอิซูมิ แต่ข้อคิดของเนลสัน แมนเดล่าแห่งแอฟริกาใต้ก็เป็นสิ่งที่ผู้นำไทยควรได้คิดพิจารณาว่า การบริหาร (ควบคุม) อารมณ์และใบหน้านั้นเป็นศิลปะและสิ่งที่จำเป็นมากๆ สำหรับผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำหญิง เพราะพิษของน้ำตานั้นอาจจะร้ายแรงไร้เหตุผลเกินกว่าที่จะคาดคิดได้