ความพอดี ทางออกของสังคมไทย

ความพอดี ทางออกของสังคมไทย

ไม่ว่าจะทำอะไร ความพอดีเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ความพอดีคือ ไม่มาก ไม่น้อย การมีความพอดีมีความหมายได้หลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ความคาดหวัง ต้องตั้งความคาดหวังให้พอดีๆ และสมเหตุผล

ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ พ่อแม่ก็ไม่ควรจะคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เพราะธรรมชาติช่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก ประชากรของประเทศก็จะมีเพศชายและหญิงค่อนข้างสมดุลกัน สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อแรกเกิดเพศชายจะมีสัดส่วนมากกว่าเพศหญิงอยู่เล็กน้อย คือประมาณ 51 ต่อ 49 แต่สัดส่วนรวมของประชากรทั้งหมด เรามีผู้ชาย 49 ต่อผู้หญิง 51 เนื่องจากผู้ชายใช้ชีวิตโลดโผนกว่าจึงมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิง

พ่อแม่ก็ต้องตั้งความคาดหวังพอดีๆ กับลูก หากพ่อแม่เองเรียนปานกลาง จะคาดหวังให้ลูกเรียนเก่งระดับทีมชาติก็ย่อมเป็นไปได้ยาก

ถ้าเรามีความพอดีในการดำรงชีพ ปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องการเบียดเบียนผู้อื่น การล่วงเกินสิทธิ์ของผู้อื่นก็จะลดน้อยลงไป

ในงานสัมมนาเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คุณวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ได้กล่าวขึ้นมาในตอนหนึ่งว่า ในการเจรจานั้น แต่ละฝ่ายก็ต้องมีข้อมูลและมีท่าทีของตนที่ต้อง “อุบ”เอาไว้ ไม่สามารถเปิดเผยทุกๆอย่างต่อสาธารณะได้ เพราะจะทำให้เสียเปรียบในการเจรจา

ท่านทูตบอกว่า ถ้าต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการถูกต่อว่า ว่าปิดบังข้อมูล กับผลประโยชน์ของประเทศ ท่านเลือกผลประโยชน์ของประเทศเสมอ

ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง และอยากจะยกกรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ ทั้งสำหรับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและการดำเนินธุรกิจ หรือการดำเนินชีวิต เราต้องรู้ว่าข้อมูลไหนเป็นความลับ ไม่พึงเปิดเผย และข้อมูลไหนเปิดเผยได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อเรื่องสำคัญที่กำลังดำเนินอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะรุกถามข้อมูลจนเกิน”พอดี”

การเจรจาก็เหมือนกับการเล่นเกม หากเราอ่านคู่ต่อสู้ออก หากเราเดาได้ว่าต่อไปเขาจะเดินเกมอย่างไร เราก็จะได้เปรียบ เพราะเราสามารถดักทางได้ถูก สามารถวางแผนเพื่อชัยชนะของเราได้

สื่อมวลชนต่างก็มีแรงกดดันในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลที่ใหม่สดที่สุด หากได้มาไม่เหมือนใครได้ก็ยิ่งดี แต่ต้องมีความพอดีค่ะ ถ้าเจ้าตัวบอกว่าไม่สามารถแจ้งได้ ก็ต้องหยุด เพื่อเห็นแก่ประเทศ

เรื่อง”จิตสาธารณะ”นี้เป็นเรื่องใหญ่ ดิฉันไปเยือนญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ รู้สึกชื่นชมใน“จิตสาธารณะ”ของคนญี่ปุ่น ที่ดิฉันมองว่าฝังอยู่ในสายเลือด และสังคมมีมาตรการลงโทษค่อนข้างแรง ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากเป็นประเทศเกาะ คนทำไม่ดีคนหนึ่งอาจทำให้คนทั้งเกาะเดือดร้อน คนญี่ปุ่นจึงมีความละอายในตัวเองสูง หากการกระทำหรือคำพูดของตนก่อให้เกิดผลลบต่อผู้อื่น หรือต่อส่วนรวม

ความ”พอดี” ในการลงทุน หมายถึงการเลือกลงทุนแบบมีการกระจายการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ทุ่มลงทุนไปในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง พร้อมกันนี้ก็ต้องตั้งความคาดหวังในผลตอบแทนให้พอดีๆ ด้วย เมื่อทำได้ การลงทุนก็จะได้ผล คนลงทุนก็มีความสุขค่ะ

ในตอนนี้ สังคมไทยโหยหาความ “พอดี” ส่วนจะเป็นความพอดีในเรื่องอะไรบ้าง อยากให้ท่านผู้อ่านนำไปประยุกต์ด้วยตนเองค่ะ

ดิฉันขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่อง “ความพอดี” ซึ่งคัดลอกมาจากสารคดี “คำพ่อสอน” เพื่อเตือนใจผู้อ่านทุกท่าน ดังนี้

“ความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ...

เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริม

ความเจริญก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ..

ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน...”

โดยท่านสามารถติดตามสารคดี “คำพ่อสอน” ในตอนนี้ได้ทาง www.youtube.com/watch?v=uhwckKwLMLI

นอกจากนี้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ยังกล่าวถึง “ความพอดี”* ดังนี้

“ความพอดีนั้นมีความสำคัญ

ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างขาดความพอดี ใช้ไม่ได้

ไม้ที่จะตัดเป็นบ้านขาดความพอดีก็เป็นบ้านไม่ได้

จีวร เสื้อผ้า ตัดยาวไป สั้นไป ก็ใช้ไม่ได้

อาหารมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้

ความเพียร มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ได้

มัชฌิมา ทางกลาง คือ ขจัดสิ่งที่ไม่พอดี ให้พอดีนั่นเอง

กามสุขัลลิกานุโยค คือ ตกไปในทางรัก

อัตตกิลมถานุโยค คือตกไปในทางชัง นี่ก็ไม่พอดี

ทำสมาธิหลงไปในความสุขก็ตกไปในทางรัก

ทำสมาธิไม่ดีในบางคราว เศร้าใจตกไปในทางชัง

การขจัดเสียซึ่งส่วนทั้งสองนั้น คือการเดินเข้าสู่ อริยมรรค

การเข้าถึงอริยมรรคนั้น คือ การเข้าถึงต้นบัญญัติ

การเข้าถึงต้นบัญญัติ คือการถึง “พุทธ”

ประเทศจะสงบสุข มีความเจริญ เมื่อคนไทยทุกคน ทุกหมู่ ทุกเหล่า มีความ “พอดี”

*ที่มา : http://immudotcom.wordpress.com โดยเปลี่ยนการเขียนบาลีให้เป็นแบบภาษาไทยเพื่อความสะดวกในการอ่าน