Thailand-Plus-One : ไทยจะเป็น ‘ฮับ’ หรือ ‘คอขวด’

Thailand-Plus-One : ไทยจะเป็น ‘ฮับ’ หรือ ‘คอขวด’

ประธาน “เจโทร” ของญี่ปุ่นบอกว่าบริษัทพี่ยุ่นเริ่มจะใช้กลยุทธ์ “Thailand-Plus- One” ในอาเซียน

ซึ่งแปลว่าไทยจะเป็น “ศูนย์กลาง” ของการลงทุนโดยจะบวกอีกหนึ่งประเทศในแถบนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืน

คุณ Setsuo Iuchi ประธาน Japan External Trade Organization (Jetro) ประจำประเทศไทยอธิบายเรื่อง “ประเทศไทยบวกหนึ่ง” ได้น่าสนใจ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าบริษัทยักษ์ ๆ ของญี่ปุ่นหลายแห่ง มองว่า ไทยเรายังเป็นฐานปฏิบัติการทางด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้ที่แข็งแกร่ง

นั่นคือการตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ฮับ” ของการลงทุนและการผลิตสำหรับภูมิภาคนี้ และหาประโยชน์จากการที่ข้อตกลงการค้าเสรีหลาย ๆ ชุดกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

นี่ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว หากแต่เป็นผลการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ปักหลักในประเทศไทย เมื่อถามถึงแนวโน้มธุรกิจที่บริษัทเหล่านี้กำลังวางแผนสำหรับอนาคต

แนวทางของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ยังมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยไม่น้อย และดูเหมือนจะฟื้นจากความหวาดหวั่นหลังเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อสองปีก่อนมาแล้วในระดับหนึ่ง

ถ้าไทยเราตระหนักถึงศักยภาพนี้ และลงมือ “ทำการบ้าน” อย่างจริงจัง ไม่ให้การเมืองเรื่องวุ่น ๆ และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองมากระทบกระทั่งความน่าลงทุนเสียก่อน, เราก็ควรจะเป็นประเทศผู้นำสำหรับการลงทุนต่างประเทศอย่างค่อนข้างแน่นอน

วิธีคิดของบริษัทญี่ปุ่นตามแนวทางนี้คือการวางแผนให้ไทยเป็นฐาน เพื่อเจาะเข้าตลาดเพื่อนบ้านของไทย และปรับตัวเพื่อแบ่งปันการผลิตส่วนต่าง ๆ ไปในแต่ละประเทศ แล้วแต่ว่าใครจะมีจุดแข็งตรงไหนอย่างไร

เขามองว่าอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตที่เสริมไทยได้อย่างดี

เวียดนามและพม่า ก็สามารถจะเพิ่มศักยภาพของการเป็นฐานการผลิตต่อยอดจากของไทยได้เช่นกัน

ประธานเจโทร บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผลการสำรวจสรุปว่าบริษัทญี่ปุ่นเริ่มจะคิดไปในทิศทางนี้... นั่นคือการที่จะปักหลักในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

ซึ่งเป็นสัญญาณทางบวกสำหรับประเทศไทย ที่ควรจะต้องได้รับการส่งเสริมและต่อยอด ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

ต้องไม่ลืมว่าบริษัทญี่ปุ่นยังคงมองอินโดนีเซีย ในทางบวก และเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน, ประเทศนี้จึงมีพลังดึงดูดความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นมาตลอด

ช่วงหลังนี้พม่า ก็เร่งฝีเท้าในอันที่จะเปิดทางให้บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยเงื่อนไขที่เป็นมิตรและผ่อนผันกว่าหลาย ๆ ประเทศในแถบนี้ด้วยซ้ำไป

จีนเองมีปัญหาเรื่องค่าแรงที่แพงขึ้น และขาดแคลนแรงงานมีคุณภาพ ทำให้ความน่าลงทุนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาของจีนเริ่มจะหดหาย และนักลงทุนต่างชาติกำลังมองหาที่อื่นมากขึ้น

ไทยควรจะเป็นหนึ่งของ “ทางเลือกใหม่” นั้นอีกเช่นกัน

นักลงทุนญี่ปุ่นมองโอกาสมหาศาลที่จะเกิดจากการเปิดเสรีของการค้าในแถบนี้

ไม่ว่าจะเป็น “เออีซี” หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสิบประเทศในอีกสองปีข้างหน้า

หรือข้อตกลง “หุ้นส่วนเศรษฐกิจ” ในภูมิภาคนี้ที่รวมอาเซียนสิบประเทศกับอีกหกประเทศเพื่อตั้งเป็นเขตการค้าเสรี อันหมายรวมถึงจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อีกด้วย

เรียกเป็น Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ที่จีนเชียร์อย่างแรงและมีศักยภาพที่จะเปิดประตูสู่การค้าขายและลงทุนอย่างมโหฬารได้

ข่าวเรื่องนี้ยืนยันว่าหากคนไทยรู้จักเสริมสร้างพลังของตนอย่างเป็นระบบ, จัดลำดับความสำคัญของประเทศชาติให้ถูกต้อง และปรับปรุงคุณภาพการเมืองของประเทศ ให้เข้าสู่ระดับสากลอย่างแท้จริง เราก็มีสิทธิจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูได้อย่างแน่นอน

เพียงแต่ทุกวันนี้เรายังติดหล่มความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังมองไม่เห็นทางออก

และหากเรายังหลงอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งเช่นนี้, ที่เรียกว่า “ฮับ” หรือ “ศูนย์กลางแห่งอาเซียน” ก็อาจจะกลายเป็น “คอขวด” หรือ bottleneck แห่งอาเซียนก็ได้

โอกาสมาแล้ว หากเราไม่ลุกขึ้นสร้างความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง มันก็จะผ่านเราไป และโอกาสเช่นนี้อาจจะไม่กลับมาอีกแล้วก็ได้

ถึงวันนั้น เราอาจกลายเป็น “คนป่วยของเอเชีย” อย่างน่าเสียดายยิ่ง