ฮีโร่

ฮีโร่

ยอมรับโดยดุษณีว่า "วีรชัย พลาศรัย" เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ โดดเด่นเหลือเกินในเวลานี้

เพราะเขาได้แสดงให้คนไทยเห็นถึงความกล้ายืนซดกับ "ศัตรูประเทศ" ในศาลโลก ได้ถึงพริกถึงขิง
มิมีใครสงสัยว่าเขาคือ "ผู้พิทักษ์" แผ่นดินไทย โดยมีทีมทนายความชาวต่างชาติ 3-4 คนให้การช่วยเหลือ

การยกประเด็นความบกพร่องของแผ่นที่ภาคผนวกหนึ่งของฝ่ายกัมพูชา เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายไทยทำได้ดี
ความพยายามเรื่องการนำแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง หรือแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชา นำมาใช้อ้างอิงนั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นการยื่นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง และ "ปลอมแปลงเอกสาร" พร้อมฟันธงว่า ศาลโลก ไม่สามารถตัดสินเกินกว่าคำร้องที่กัมพูชาได้ร้องขอให้ขยายคำพิพากษาปี 2505 ได้ ถือเป็นการทำหน้าที่ที่โดดเด่นได้ใจคนไทยจากการออกมาแฉเล่ห์เหลี่ยมของกัมพูชา ครั้งนี้

ถ้าจะให้การต่อสู้สมบูรณ์กว่านี้ ทีมทนายฝ่ายไทยไม่ได้ยกเอารัฐธรรมนูญ กัมพูชามาตรา 2 ที่ร่างขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ บ่งชัดว่า กัมพูชา ต้องจัดการปัญหาพื้นที่ในอัตราส่วน 1:100,000 เท่านั้น

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญ กัมพูชา ระบุว่า "ปัญหาเขตแดนกัมพูชาให้ใช้ 1:100,000 เท่านั้น"
แผนที่1:100,000 จัดทำในปี ค.ศ.1933 - 1953 ก่อนศาลโลกตัดสินคดีพระวิหาร และแผนที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติในปี ค.ศ.1963 - 1969 หนึ่งปีหลังจากศาลโลกตัดสินคดีพิพาทพระวิหาร

การขึ้นให้การด้วยวาจา ฝ่ายกัมพูชา พยายามอ้างแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง หรือระวางพนมดงรัก 1:200,000 เท่ากับมีเจตนาจะยึดบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.ไปจากไทย เท่ากับทำขัดรัฐธรรมนูญ ของกัมพูชาเอง
ผลของการทำขัดรัฐธรรมนูญภายใน ศาลโลกเคยมีคำตัดสินในอดีตที่ผ่านมาโดยเป็นการวางหลักการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยคำพิพากษาศาลโลกหลายคดีระบุชัด ว่า "กิจการใดจะสมบูรณ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ต้องสมบูรณ์ภายในก่อน"

ระวางพนมดังรัก 1:200,000 ที่กัมพูชา อ้างในศาลโลกจึงใช้ไม่ได้เลย

นอกจากนี้ การต่อสู้คดีที่ขาดหายไปอีกประเด็น คือ ไทยต้องไม่ยอมรับ เอ็มโอยู 2543 เพราะการยอมรับเท่ากับว่าเรามีปัญหาเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำอย่างไร

ทีมทนายไทย ไม่ได้ใส่ใจ "Fourteen Points" ที่ President Woodrow Wilson เป็นผู้นำเสนอ เพื่อทำลายระบบ "ล่าอาณานิคม"

"Fourteen Points" เป็นยิ่งกว่าหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยประเพณีปฏิบัติ และ "ยูเอ็น" ได้นำหลักการนี้ไปวางกฎบัตรสหประชาชาติ ปรากฏในคำปรารภ เท่ากับเป็นเจตนารมณ์ของ สหประชาชาติ

เจตนารมณ์ ที่ประกอบขึ้นด้วย
1.ต้องร่วมมือต้องให้เกิดความสงบในโลก ใครฝ่าฝืนต้องใช้กองกำลังร่วมกันเข้าไปจัดการ
2.สร้างความเจริญผาสุกให้พลเมืองโลก ในสังคมที่ใหญ่กว่า (โลกทั้งโลกไม่มีพรมแดน)
3. สร้างความเป็นธรรมโดยเสมอกันในสังคมมนุษยชาติ

หากสงสัยว่าแล้วจะนำมาใช้กับกรณีของกัมพูชา ได้อย่างไร
ไม่มีใครปฏิเสธว่ากัมพูชา ได้สร้างสถานการณ์สู้รบบริเวณชายแดนเขาพระวิหาร เพื่ออ้างเหตุนี้ไปขึ้นศาลโลก ทั้งที่ทราบดีว่า สิ่งที่กัมพูชาทำนั้นฝ่าฝืนบทบัญญัติที่ 38 ธรรมนูญศาลโลก ที่ว่า "ผู้มาศาลจะต้องมือสะอาด" กรณีนี้กัมพูชาทำขัดเจตนารมณ์ข้อที่ 1

ศาลโลก เป็นแผนกที่ 6 ของยูเอ็น และผู้บังคับคดีของศาลโลก คือ Security Council มีอำนาจสูงสุดเหนือยูเอ็นด้วยซ้ำไป

คำถามของผมก็คือ เราสู้ด้วยข้อกฎหมายที่น็อคกัมพูชาได้ แต่ทนายฝ่ายไทยสู้แค่เรื่องแผนที่ ผมจึงยังเรียกพวกเขาว่าเป็น "ฮีโร" ได้ไม่เต็มปากเต็มคำ