สวนแห่งนวัตกรรม

สวนแห่งนวัตกรรม

การพลิกโฉมองค์กรสู่ความเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ดูเหมือนจะเป็นพันธกิจหลักของผู้นำหลายๆ คน

เพราะการแข่งขันทางธุรกิจได้เปลี่ยนจากการใช้ต้นทุนต่ำ หรือเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตไปแล้ว

นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ได้เปลี่ยนสถานะจากที่เคยอยู่ในห้องวิจัยและพัฒนามาเป็นหัวหอกในการสร้างรายได้ให้องค์กร แต่การจะพัฒนาบุคลากรให้มีความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

การบ่มเพาะบุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับการทำสวน ดังเช่นที่เกริ่นไว้ใน “ไอทีไร้พรมแดน” ฉบับที่แล้ว จึงขอขยายรายละเอียดเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้ ถึงสิ่งสำคัญในการมองบุคลากรให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพราะเรื่องความคิดสร้างสรรค์นี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเหมือนดอกไม้บางพันธุ์ที่จะบานเฉพาะในฤดูฝน ซึ่งหากเราตัดทิ้งไปเสียก่อนเราก็จะไม่เห็นดอกของมันอีกเลยในปีนั้น

กับคนขององค์กรก็ไม่ต่างกัน เพราะแต่ละคนจะซึมซับความรู้ที่ไม่เหมือนกัน บางคนช้า บางคนเร็ว บางคนเก็บรายละเอียด บางคนชอบดูภาพกว้างๆ การเร่งรัดบางคนในเวลาที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เขาไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่

เหมือนดอกไม้ที่เร่งให้เติบโตนอกฤดูกาล หรือคนดูแลไม่ทำหน้าที่ให้เหมาะสม ใส่ปุ๋ยผิดหรือไม่ได้รดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ก็อาจไม่เห็นดอกไม้งอกงามตามต้องการ แต่หากเรารู้จังหวะของแต่ละคนและเลือกส่งเสริมเขาในเวลาที่เหมาะสม สุดท้ายแล้วเราก็จะได้ผลงานของแต่ละคนมาใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เหมือนดอกไม้บางพันธุ์ที่อาจบานในช่วงฤดูร้อน บางพันธุ์ก็จะออกดอกบานในฤดูฝน ฯลฯ ให้เราได้ชื่นชมได้
ในทุกฤดู

ในแง่ของการบ่มเพาะนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ผู้นำต้องอาศัยความอดทนมากกว่าเดิมเพราะต้องหล่อหลอมความแตกต่างของบุคลากรแต่ละคนเข้าด้วยกัน เช่นบางครั้งต้องการความแปลกใหม่ก็ต้องอาศัยนักคิดเข้ามามีส่วนร่วม

แต่เมื่อต้องเอาความคิดเหล่านั้นไปนำเสนอก็อาจต้องเปลี่ยนตัวจากนักคิดที่มีความคิดโดดเด่นจริง แต่ไม่สามารถอธิบายเรื่องยาวๆ ให้ลูกค้าเข้าใจ ไปเป็นพนักงานขาย หรือฝ่ายการตลาด เพราะคนกลุ่มนี้อาจคิด
ไม่เก่งแต่รู้ความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี

เราจะหวังให้ดอกไม้พันธุ์หนึ่งมีคุณลักษณะเหมือนกับอีกพันธุ์หนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับการคาดหวังให้พนักงานขายส่วนใหญ่มีกลยุทธ์หรือมีความเป็นนักคิดที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ยกเว้นจะเจอคนที่มีความสามารถรอบด้านซึ่งมีน้อยมาก

การกระตุ้นนวัตกรรมในองค์กรจึงต้องอาศัยแนวคิดดูแลสวนที่ต้องผสมผสานความแตกต่างเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะในยุคที่อุตสาหกรรมบริการ และ Knowledge Based Economy กำลังเบ่งบาน เช่นในทุกวันนี้ ผู้บริหารย่อมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และเสริมความสามารถของแต่ละคนเข้าด้วยกัน

แม้ในองค์กรจะมีคนเข้าและออกก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถึงเราอาจต้องสูญเสียบุคลากรที่ดีไป แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็มีความคิดเห็นใหม่จากคนใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มให้กับองค์กรด้วยจึงถือเป็นโอกาสดีที่องค์กรจะได้ปรับตัวและก้าวเดินต่อไป