การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 65 การเลือกตั้งที่เป็นแพลตฟอร์ม

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 65 การเลือกตั้งที่เป็นแพลตฟอร์ม

การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และ ส.ก. ที่เพิ่งผ่านไป ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนให้ความสนใจในวงกว้างมากที่สุดครั้งหนึ่ง

ความสนใจนี้สืบเนื่องจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่จัดไปเมื่อปี 2563 และ 2564 ที่ผู้คนต้องการมีส่วนร่วมอย่างมาก จนมาถึงกรณีของการเลือกตั้ง กทม. ที่ประชาชนหลายฝ่ายกระทู้ถามรัฐบาลถึงการจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น จนในที่สุดก็ได้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 และ กทม. ก็ได้ผู้ว่าคนใหม่คือ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

พวกเรามีมุมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่กลไกที่ผู้สมัครนำเสนอนโยบายเพื่อเสียงโหวตเท่านั้น แต่ยังเป็น “แพลตฟอร์ม” ที่ทำให้ผู้สมัครปรับแต่งแคมเปญนโยบาย หาฐานเสียงใหม่ ๆ อีกทั้งเป็นแพ็คเกจข้อมูลเพื่อเป็นการบ้านสำหรับการทำงานด้านการเมืองและนโยบายต่อไปด้วย

ก่อนการประกาศวันเลือกตั้งและวันเปิดรับสมัครก็มีการทำโพลล์สำรวจความนิยมตัวบุคคลเป็นระยะ ๆ ผู้สมัครยิ่งเปิดตัวเร็วก็ยิ่งมีโอกาสนำเสนอวิสัยทัศน์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหา จัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อทำนโยบายแล้วสื่อสารในหลากหลายรูปแบบ

ในทางหนึ่งการเปิดตัวผู้สมัครเร็วก็ทำให้ได้คะแนนนิยม หลังจากที่เปิดตัวก็ได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารและเก็บข้อมูลเพื่อทำนโยบายไปพร้อมกัน

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 65 การเลือกตั้งที่เป็นแพลตฟอร์ม

(ภาพจาก: รายการดีเบตผู้ว่าฯ กทม ช่อง Thai PBS)

 

ผู้สมัครแต่ละคนก็มีวิธีการนำเสนอนโยบายที่แตกต่างกัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นำเสนอ 198 นโยบายที่สามารถนำไปเป็นแผนปฏิบัติจริงใน 9 ด้าน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นำเสนอเปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้กับ 2 เปลี่ยน เปลี่ยนเมืองและเปลี่ยนคุณภาพชีวิต วิโรจน์ ลักษณาอดิศร เสนอ 12 นโยบายกรุงเทพฯ สร้างเมืองที่คนเท่ากัน 

อัศวิน ขวัญเมือง ชูสโลแกนกรุงเทพฯ ต้องไปต่อด้วย 8 นโยบายสำคัญ ส่วน สกลธี ภัทธิยกุล เสนอ 6 นโยบายหลักทำกรุงเทพฯ ให้ดีกว่านี้ได้ รวมถึงผู้สมัครคนอื่นๆ ก็มีนโยบายหลักเช่นเดียวกัน อาจมีบางนโยบายที่เหมือนกันในเชิงแนวคิด แต่แตกต่างกันในเชิงกระบวนการหรือรายละเอียด

แม้ผู้สมัครจะมีนโยบายหลักแล้ว แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ รอบนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีรายการคุยสัมภาษณ์ รายการวาไรตี้ และรายการดีเบตเยอะมาก เป็นรายการของทั้งผู้สมัครผู้ว่าและผู้สมัคร ส.ก. ซึ่งแต่ละรายการก็ต้องแข่งกันงัดประเด็นคำถามใหม่ ๆ หรือคำถามที่แหลมคมจนผู้สมัครต้องเตรียมข้อมูลขบคิดนโยบายที่นอกเหนือจากนโยบายหลักที่ได้นำเสนอไว้ 

 

จนในช่วงหลังเราได้ผู้สมัครชูนโยบายเพิ่มเติมในเวทีดีเบต เช่น สกลธีโมเดลที่เสนอเรื่องการหาเงินได้ใช้เงินเป็น ซึ่งพูดถึง City Tax การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการพักโรงแรมของนักท่องเที่ยว วิโรจน์เสนอเรื่องการเพิ่มรายได้ให้กับ กทม. ด้วยการทวงเงินอุดหนุนภาษีที่ดินจากรัฐบาล อ.ชัชชาติ ก็ทำนโยบายเพิ่มจาก 198 เป็น 214 นโยบาย

สะท้อนให้เห็นว่าการดีเบตที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนรายการและความหลากหลายในมิติต่าง ๆ เช่น เวทีคนพิการ เวทีคนไร้บ้าน เวทีคนจนเมือง เวทีสาธารณสุข เวที LGBTQ+ เวทีสัตว์เลี้ยง เวทีศิลปะดนตรี เวทีงานหนังสือ ที่มีการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาถามคำถาม ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มนโยบายให้กับผู้สมัครไปในตัว 

ยิ่งทำให้ผู้สมัครต้องทำการบ้านคิดนโยบายมากกว่านโยบายเรือธงที่นำเสนอในการเปิดตัว แน่นอนว่าการดีเบตที่ถ่ายทอดสดถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาทางการเมือง ที่ประชาชนจะคอยจับตาดูว่าหลังจากที่ได้ชัยชนะการเลือกตั้งแล้วจะทำได้จริงหรือไม่

หากผู้สมัครหนีหรือ “เท” ก่อนเริ่มเวทีดีเบตหลาย ๆ รายการก็ยิ่งตกเป็นเป้าของสื่อมวลชนในการตั้งคำถามถึงความไม่พร้อมของผู้สมัคร ก็ส่งผลต่อคะแนนนิยมอาจลดลงเมื่อมีการทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นต่อผู้สมัคร แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้สนับสนุนผู้สมัครโดยตรง 

เพราะเป็นการปิดโอกาสที่จะสื่อสารนโยบายหลัก การประชันวิสัยทัศน์ และไม่สามารถทำให้แพลตฟอร์มนโยบายที่ตัวเองสร้างขึ้นเข้าถึงคนในวงกว้างได้

ส่วนผู้สมัครที่แพ้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ หลายคนที่เดินหน้าทำการเมืองต่อก็ได้แพลตฟอร์มการทำและสื่อสารนโยบายเพื่อเตรียมการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งถัดไป ซึ่งก็ยังพอมีเวลาที่จะคิดถึงการอัพเกรดแพลตฟอร์มที่มีอยู่ เพื่อเปิดให้มีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายมากขึ้น

 ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระบวนการทำนโยบายแบบออนไลน์หรือการลงพื้นที่จริงก็ตาม โดยสามารถนำนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ มาเสริมแพลตฟอร์มนโยบายได้ เช่น การทดลองเชิงนโยบาย การทำเกมนโยบาย การสร้างเครือข่ายนโยบายแบบไฮบริดจ์

แนวโน้มการทำนโยบายสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว จึงเป็นการทำแพลตฟอร์มนโยบายที่มีการแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ และข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมแทบทุกปัญหา ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีส่วนในการทำนโยบายสาธารณะ 

แพลตฟอร์มนโยบายนี้น่าจะสะท้อนไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2566 ที่เร่งให้พรรคการเมืองปรับเข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้ง เริ่มรณรงค์นโยบายเร็วขึ้นกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา

และเป็นโจทย์ท้าทายผู้สมัครในระดับหัวหน้าหรือแกนนำพรรคที่จะเป็นตัวแทนไปประชันนโยบายที่ต้องทำการบ้านหนักขึ้นในทุกมิติ.

 

คอลัมน์ : มุมมองบ้านสามย่าน 
อดิศักดิ์ สายประเสริฐ นักวิจัยโครงการ SIAM LAB
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น