ผ่างบฯ2566 ปรับสามเหลี่ยมความหวัง ยั้งสามเหลี่ยมวอดวาย | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

ผ่างบฯ2566 ปรับสามเหลี่ยมความหวัง ยั้งสามเหลี่ยมวอดวาย | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

เสร็จสิ้นไปแล้วกับการอภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ของสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 278 ต่อ 192 เสียง

ด่านต่อไปก็จะเป็นการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ก่อนที่จะนำร่างฉบับนี้กลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ 

เงินจำนวนนี้เปรียบเสมือน “ถังออกซิเจน” ที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศ หากเปรียบประเทศไทยเป็นรถที่กำลังวิ่งบนถนนเส้นหนึ่ง วิกฤตต่างๆ ที่เข้ามาตอนนี้ก็คงเป็นเหมือนทางแยกที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่รัฐบาลในฐานะผู้ขับขี่กำลังครุ่นคิดและตัดสินใจว่าจะหักพวงมาลัยไปทางไหน

หากหักเข้าถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็อาจจะพบกับสารพันปัญหาที่มะรุมมะตุ้มนำไปสู่ทางตัน แต่หากเลือกถนนถูกเส้น ก็จะอาจจะนำไปสู่ทางออกได้ 

หนึ่งในสารพัดปัญหาที่ว่า ก็คือ “ฝุ่น ฝน จน เจ็บ” สองปีก่อนเราก็เจอสภาพนี้ วันนี้ก็ยังวนเวียนอยู่ในวังวนนี้ หลายคนอาจเรียกสภาพนี้ว่า วิกฤตซ้อนวิกฤต แต่ตอนนี้เราพูดได้เลยว่าเป็น “วิกฤตยกกำลัง”

เพราะซ้อนกันไม่รู้กี่ชั้น ทั้งสงครามการค้า สงครามน้ำมัน โรคระบาด จนถึงสงครามระหว่างประเทศ แล้วรถประเทศไทยคันนี้จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร และงบประมาณ ปี 2566 นี้จะช่วยขจัดปัดเป่าปัญหาที่รุมเร้าได้มากน้อยเพียงใด 

    มุมมองทิศทางการเปลี่ยนของไทยนี้ ในมิติความเป็นอยู่ของประชาชน คงหลีกไม่พ้นที่จะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ 2 ระดับ ระดับแรกคือ เศรษฐกิจมหภาคหรือภาพใหญ่ ซึ่งหนึ่งในตัวชี้วัดของการพัฒนาประเทศ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP นั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) เงินลงทุนจากต่างประเทศ (2) แรงงาน และ (3) ผลิตภาพ

อย่างแรกคือ เงินลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศของไทยหลายปีมานี้แทบไม่มีสัญญาณบวก ปัจจัยหลักมาจากปัญหาการเมืองที่ยังขาดเสถียรภาพ ไม่ดึงดูดนักลงทุน อย่างที่สอง เราแทบไม่เห็นการเติบโตจากแรงงาน เพราะอัตราการเกิดน้อย และไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย 

อย่างสุดท้ายที่พอจะเหลือเป็นความหวัง คือ การเพิ่มผลิตภาพ ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ ดังนั้น ถ้างบประมาณจะทุ่มเทและพัฒนาองค์ประกอบของผลิตภาพที่สามารถเสริมกำลังต่อกัน ซึ่งขอเรียกว่า เป็น “สามเหลี่ยมแห่งความหวัง” ก็น่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ 

ด้านแรกของสามเหลี่ยมความหวัง คือ การพัฒนาการศึกษา ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องระยะยาว แต่หากไม่ทำก็จะยิ่งยาวต่อไปเรื่อยๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ โดยงบประมาณ จะต้องมุ่งลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาให้สำเร็จ เพราะผลจากการประเมินนานาชาติ PISA ได้สะท้อนปัญหาความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนที่อยู่นอกเขตเมือง

พอวิเคราะห์ลึกลงไป ทำให้แบ่งสภาพปัญหาได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ โรงเรียนที่ครูล้น กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ โรงเรียนที่ครูขาด เมื่อที่หนึ่งเกิน อีกที่หนึ่งขาด วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การพิจารณาควบรวมโรงเรียน เพื่อ “ลดปริมาณ เน้นคุณภาพ” 

ด้านที่สองของสามเหลี่ยมความหวัง คือ การลงทุนภาครัฐ แม้ภาพรวมงบประมาณปีนี้ จะเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ แต่เรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขควบคุมอย่างเร่งด่วน คือ งบที่เกินจำเป็น งบซ่อนแอบ งบหลังกำแพง และ งบบวกเงินทอนต่าง ๆ  รวมถึงเลี่ยงการบรรจุบุคลากรภาครัฐเพิ่ม เกลี่ยหน่วยที่คนล้นงานไปยังหน่วยที่งานล้นคน 

เพราะขณะนี้เรามีรายจ่ายด้านบุคลากรสูงถึง 40% หรือ 1.3 ล้านล้านบาทของงบประมาณทั้งหมด แล้วนำงบที่ประหยัดได้นี้ไปพัฒนาทักษะแรงงานภาคประชาชนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับด้านที่สามของสามเหลี่ยมความหวัง คือ การพัฒนาเศรษฐกิจจริง หรือ Real Sector ให้เติบโตผ่านนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่าให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และ SMEs เป็นต้น เพื่อทำให้คนไทยหลุดจากกับดักค่าแรงขั้นต่ำเสียที

เศรษฐกิจระดับที่สอง คือ เศรษฐกิจจุลภาค หรือภาคประชาชน ก็มีตัวการที่เป็นปัจจัยที่ต้องกำจัดออก ซึ่งขอเรียกว่าเป็น “สามเหลี่ยมวอดวาย” ตัวการแรก คือ ภาวะจมกองหนี้ เรามีหนี้ครัวเรือนมูลค่ากว่า 14 ล้านล้านบาท เรียกว่าเจอตั้งแต่ตื่นยันนอน หลอนยันฝัน 

พนักงานเอกชนหรือแม้แต่ข้าราชการที่หักหนี้ในระบบแล้วเหลือเงินเพียงหลักสิบบาท น้อยสุดเหลือเพียง 2 บาท ต้องเริ่มแก้จากระบบการให้กู้ยืม รวมไปถึงระบบสหกรณ์ พร้อมกับเพิ่มค่าแรงเป็นขั้นบันไดให้ได้สัดส่วนกับอัตราเงินเฟ้อ ตัวการที่สอง คือ ไม่มีทุน ที่ว่าไม่มีทุน คือ คนตัวเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่ยุติธรรมได้ ทำมาหาได้เท่าไหร่จ่ายดอกเกลี้ยง ตรงนี้จึงต้องทำให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมให้ได้ 

และ ตัวการสุดท้าย คือ ขาดกระตุ้นภูมิ ต้องยอมรับว่า เราขาดวัคซีนป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เราต้องฉีดภูมิความรู้และความเข้าใจในการบริหารความเสี่ยงให้เพียงพอที่ประชาชนจะต้านทานและรับมือความผันผวนทางการเงินและการลงทุนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบเก่าหรือใหม่อย่างคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งสร้างวินัยการเงิน 

ทั้งหมดที่กล่าวมา ร่างงบประมาณ ปี 2566 ทั้งฉบับที่มีเม็ดเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งยังมีสัดส่วนของการจัดการปัญหาสามเหลี่ยมวอดวายนี้น้อยเกินไป แต่ที่ยังพอทำได้ คือ การทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดการใช้จ่ายงบฯ ก็ต้องฝากความหวังกับคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 72 ท่านที่จะช่วยดูในเรื่องนี้ 

หากเราสามารถ “ปรับสามเหลี่ยมความหวัง ยั้งสามเหลี่ยมวอดวาย” ได้ตามที่เสนอมานี้ ก็จะเป็นผลดี แต่ภาครัฐมีเครื่องยนต์ที่อ่อนกำลังอยู่จากหนี้สาธารณะ ส่งผลให้กำลังยังมีไม่พอ จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะเอกชนที่มีขนาดใหญ่และความพร้อมมาเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ ก็สามารถเพิ่มกำลังขับดันให้รอดพ้นและสามารถนำพาประเทศฝ่าเพลิงเศรษฐกิจนี้ได้.
คอลัมน์ เปิดมุมคิด เศรษฐกิจทันสมัย
ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย 
พรรคประชาธิปัตย์