เลี้ยงลูกไม่ให้หลงตัวเอง | วรากรณ์ สามโกเศศ

เลี้ยงลูกไม่ให้หลงตัวเอง | วรากรณ์ สามโกเศศ

พ่อแม่ที่ไหนก็อยากมีลูกที่เติบโตขึ้นเป็นคนมีความสามารถ  เห็นความสำคัญของตนเอง และมีความเชื่อมั่นในตนเอง

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า หลายสิ่งที่พ่อแม่ทำไปเพื่อหวังจะให้ลูกเป็นคนมีลักษณะดังกล่าวกลับมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ลูกกลายเป็นคนหลงตัวเอง    วันนี้มาดูกันว่าเลี้ยงลูกอย่างไรจึงจะได้ผลดังที่ต้องการ

ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง    เห็นคุณค่าของตนเองและเคารพตนเอง ดังที่เรียกว่า Self-Esteem นั้นเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญอย่างยิ่งในการนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต     ส่วน Narcissism คือความคลั่งไคล้ลุ่มหลงตัวเองและชื่นชมในตัวเองอย่างเกินขนาดนั้นมักเกี่ยวพันกับความรู้สึกกังวลใจ    ความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้า และความก้าวร้าวอยู่เสมอ

เด็กที่มีความรู้สึกคลั่งไคล้ตัวเองจะเชื่อว่าตนเองมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ และสมควรได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ  หลายคนอาจเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการผิดปกติทางจิตที่สะท้อนถึงภาวะความบกพร่องทางบุคลิกภาพ (Narcissistic Personality Disorder)  

ซึ่งจะทำให้ขาดความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (lack of empathy) และมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์

คนทั่วไปมักเข้าใจว่าความคลั่งไคล้และหลงใหลตัวเองก็คือการมีความเชื่อมันในความสามารถของตนเองที่มากไปอย่างเกินขอบเขต   แต่งานวิจัยพบว่าสองสิ่งคือ Self-Esteem และ Narcissism นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง      

Dr.Cara Goodwin ผู้เขียนบทความเรื่อง “Raising a Child With High Self-Esteem but Not Narcissism” ใน Psychology Today ในฉบับเดือนเมษายน 2022 ยืนยันข้อแตกต่างนี้   ผู้เขียนขอนำข้อแนะนำของเธอมาใช้ในที่นี้

ความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้มีความสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูลูกเพราะการพูดสนับสนุนอย่างผิด ๆ อาจนำไปสู่การคลั่งไคล้หลงตัวเองได้    พ่อแม่สามารถสังเกตลูกได้ว่ามีทางโน้มสู่ Narcissism หรือไม่ดังต่อไปนี้  

 (1)  ไม่มองตัวเองอย่างอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง    เด็กเหล่านี้จะมองไม่เห็นตัวเองอย่างชัดแจ้ง   มองเห็นแต่ความยอดเยี่ยมกว่าผู้อื่น  

 (2) ต้องการความเหนือกว่าผู้อื่นอยู่เสมอ  เด็กเหล่านี้ต้องการรู้ว่าตัวเขาเก่งกว่าคนอื่น   มักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นและมีทางโน้มมองตัวเองว่าเก่งกว่าอยู่เสมอ   ในขณะที่เด็กเชื่อมั่นในความสำคัญของตนเองมักสนใจความสำเร็จของตนเองและการพัฒนาขึ้นมากกว่าการเปรียบเทียบกับคนอื่น

เลี้ยงลูกไม่ให้หลงตัวเอง | วรากรณ์ สามโกเศศ

(3)  ความอ่อนไหว   เด็กคลั่งไคล้ตนเองมักคิดว่าทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นผลมาจากการกระทำของตนเอง  ดังนั้นบ่อยครั้งจึงรู้สึกโกรธ     อับอาย และก้าวร้าวเมื่อตนเองล้มเหลว      ส่วนเด็กเชื่อมั่นในความสำเร็จของตนเองสามารถรักษาการมองตนเองในด้านบวกไว้ได้ถึงแม้จะมองว่าตนเองล้มเหลวก็ตามที

ข้อสังเกตเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการคลั่งไคล้หลงใหลตัวเองมิใช่ดีกรีที่เพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง  การมองเห็นความสำคัญและคุณค่าของตนเองหรือ Self-Esteem แต่อย่างใด    สองสิ่งแตกต่างกัน  คำถามที่สำคัญก็คือพ่อแม่จะปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีของ  Self-Esteem ในตัวลูกอย่างไรโดยไม่ไปสนับสนุน Narcissism   

ผู้เขียน Dr.Cara Goodwin ใช้งานวิจัยเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
(1) มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของลูกอย่างอยู่ในโลกที่เป็นจริง   ระวังการประเมินความสามารถของลูกที่ต่ำหรือสูงเกินจริง  การประเมินลูกสูงเกินไปจะเท่ากับเป็นการสนับสนุน Narcissism     งานวิจัยพบว่าพ่อแม่ของเด็กที่คลั่งไคล้ตนเองเชื่อว่าลูกของตนฉลาดกว่าเด็กอื่น ๆ ถึงแม้ในความเป็นจริงจะฉลาดระดับเฉลี่ยก็ตามที

(2)  จริงใจในการชมลูกและหลีกเลี่ยงคำชื่นชมที่เว่อร์เกินไป     พ่อแม่ของเด็กคลั่งไคล้ตนเองมักใช้คำชื่นชมที่สุดโต่งมาก ๆ เช่น “ภาพวาดของลูกสวยที่สุดที่พ่อเคยเห็นมา”      ซึ่งถ้าชมอย่างซื่อสัตย์ก็อาจเป็น “ลูกได้พยายามอย่างมากในการเขียนรูปนี้”

(3) หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ๆ    พ่อแม่ของเด็กหลงตัวเองมีทางโน้มที่จะแคร์มากกับสถานะของลูกในสังคมเด็ก และมักสื่อสารกับลูกทำนองว่าลูกเก่งกว่าคนอื่น ๆ    ที่ถูกต้องนั้นแทนที่จะเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น     ควรเปรียบเทียบสิ่งที่ลูกทำในปัจจุบันกับที่ทำในอดีตว่าดีขึ้นอย่างไร   งานวิจัยพบว่าวิธีการนี้จะเพิ่มความภาคภูมิใจของลูกโดยไม่ทำให้รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น 

  (4)  เน้นการทำงานหนัก    ความพยายาม   และการมองว่าความล้มเหลวคือโอกาสในการเรียนรู้      การชื่นชมลูกในลักษณะข้างต้นมีทางโน้มที่จะเพิ่ม Self-Esteem  ถ้าพ่อแม่มองว่าความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้แล้ว     เด็กมีทางโน้มที่จะเชื่อในความสามารถของตนเองที่จะเติบโตและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น     ดังนั้นพ่อแม่ควรชมลูกในด้านการทำงานหนัก และความพยายาม (“การชมกระบวนการ”) โดยหลีกเลี่ยงคำชมที่เกี่ยวโยงกับสิ่งตายตัว (“การชมบุคคล”)  เช่น   “ลูกเก่งมาก” อยู่เสมอ

(5) แสดง “ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข”   เด็กหลงใหลตัวเองมักมีประสบการณ์ “ความรักที่มีเงื่อนไข” จากพ่อแม่     กล่าวคือรู้สึกว่าความรักที่พ่อแม่มีต่อเขานั้นขึ้นอยู่กับการทำสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ทำ   ในขณะที่เด็กเห็นความสำคัญของตนเองมักมีพ่อแม่ที่ “รักอย่างไม่มีเงื่อนไข”     

กล่าวคือมีประสบการณ์ของความรักที่มีเสถียรภาพไม่ว่าลูกจะกระทำสิ่งใดก็ตาม  เด็กคลั่งไคล้ตัวเองมักรู้สึกว่ามีคุณค่าสมกับความรักของพ่อแม่ก็ต่อเมื่อเขาบรรลุการคาดหวังของพ่อแม่ หรือเขาเป็น "คนพิเศษ”

“ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข”  ช่วยให้เด็กรู้สึกอับอายน้อยลงเมื่อล้มเหลว     คำแนะนำในเรื่องการแสดงออกถึง “ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข”  คือหลังจากแก้ไขลงโทษการกระทำผิดของลูกไปแล้ว    จงแสดงให้เห็นความรักความอบอุ่นต่อไป   จงแสดงออกและบอกเขาว่าจะรักและยอมรับเขาเสมอไม่ว่าเขาจะเรียนหนังสือเก่ง หรือแข่งกีฬาชนะหรือไม่ก็ตาม

การสนับสนุนให้ลูกเป็นคนที่มี Self-Esteem สูงนั้นเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของพ่อแม่โดยได้รับการสนับสนุนจากปู่ย่าตายายด้วย     คำพูดต่าง ๆ ที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนั้นโดยแท้จริงแล้วมีอิทธิพลต่อความคิดของเด็กเป็นอย่างมาก.