ความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน กับความเสี่ยงที่ยังต้องระมัดระวัง

ความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน กับความเสี่ยงที่ยังต้องระมัดระวัง

ความผันผวนในตลาดเงินในช่วงปีนี้เกิดขึ้นในหลากหลายส่วนทั้งตลาดบอนด์ หุ้น และยังรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยค่าเงินในฝั่งเอเชียล้วนปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. โดยเฉพาะค่าเงินเยนญี่ปุ่น โดยทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นถูกกำหนดด้วยหลากหลายปัจจัย

ทั้งเรื่องของการค้าขายระหว่างประเทศ การลงทุน ซึ่งรวมถึงทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินและการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจ สภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบ รวมถึงแรงเก็งกำไรในสกุลเงินที่เปิดซื้อขายได้อย่างเสรีต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าในรอบนี้ ตลาดการเงินจะให้น้ำหนักกับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยมากเป็นพิเศษ

ทำให้แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เกิดขึ้นในวงกว้าง เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ในขณะที่เรื่องของเศรษฐกิจจีนก็ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคไม่น้อย เนื่องจากหากจีนชะลอตัวลง เศรษฐกิจภูมิภาคก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญด้วย ค่าเงินเยนญี่ปุ่นปีนี้ปรับอ่อนค่า -11.9% (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 65) มากสุดในภูมิภาค

โดยเฉพาะนับตั้งแต่เดือน มี.ค เป็นต้นมาที่เกิดการอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันซื้อขายที่ระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปี ที่ 130.6 เยน ต่อดอลลาร์  จากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ดูเข้มงวดขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ และมีความเป็นไปได้ที่จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ญี่ปุ่นยังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อควบคุมผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ทำให้ต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินสูงขึ้นและเป็นผลลบต่อค่าเงิน ในส่วนของเงินบาทปีนี้อ่อนค่าทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยนับจากต้นปีอ่อนค่า -2.9% ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ดอลลาร์ และเปโซฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่เป็นจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเรื่องของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เศรษฐกิจจีนที่น่าจะชะลอตัวลงกว่าคาดหลังการ Lockdown และเสริมด้วยปัจจัยทางฤดูกาลของการไหลออกของเงินปันผล

 

โดยแนวโน้มในระยะถัดยังคงเป็นเรื่องของการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ต่อเนื่อง ซึ่งมองจากหลายปัจจัยที่กล่าวมาในเบื้องต้น ดอลลาร์ ยังมีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ แม้ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ อาจถูกเทขายออกมาเป็นระยะๆ แต่มองไปในอนาคตด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อาจดึงดูดให้เกิดเงินลงทุนไหลเข้าต่อเนื่องได้

ในส่วนของภาคเศรษฐกิจจริง แม้การอ่อนค่าของค่าเงินอาจจะเป็นประโยชน์และช่วยกระตุ้นภาคการส่งออก แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและผันผวนขึ้นลงอาจไม่ส่งผลดีมากนัก เสริมด้วยเรื่องของต้นทุนของผู้นำเข้าที่น่าจะสูงขึ้น และต้นทุนการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้นอาจะส่งผลต่อเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของครัวเรือนในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นในจังหวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ น่าจะปรับตัวขึ้นเร็ว ทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) นั้นแพงขึ้น จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น โดยความผันผวนที่ยังน่าจะสูงต่อเนื่อง อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องของแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งก็ยังมีส่วนต่างระหว่างที่ตลาดการเงินคาดไว้ กับแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะปรับขึ้นจริง

โดยเฉพาะหากเมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจจะเริ่มชะลอลง รวมถึงเงินเฟ้อที่อาจผ่านจุดพีคไปแล้ว หากมีการปรับประมาณการแนวโน้มดอกเบี้ยของ FED ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็จะผันผวนตามไปด้วย ซึ่งโดยรวมแม้การป้องกันความเสี่ยงอาจจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ยังอาจจะคุ้มโดยเฉพาะในภาวะที่ความเสี่ยงเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัยอย่างเช่นในปัจจุบันนี้

สำหรับการลงทุน เรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินอาจจะดูไม่เยอะเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเติบโตที่ปีนี้ดูจะทำได้ไม่ดีเสียเลย แต่ความผันผวนในตลาดการเงินต่างๆ เป็นตัวสะท้อนความเปราะบางของตลาดการเงินภาพรวมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีปีนี้นับเป็นปีที่ไม่ง่ายนักเพราะทุกตลาดดูเหมือนจะผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ยังคงต้องจับตาดูแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินกันต่อไป ซึ่งปัจจัยสำคัญยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของดอกเบี้ย สงคราม และเงินเฟ้อครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด