ข่าวลือ

ข่าวลือ

เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้แถลงข่าวการจัดเก็บอัตราเงินนำส่งที่ธนาคารพาณิชย์จะนำส่งให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้แถลงข่าวการจัดเก็บอัตราเงินนำส่งที่ธนาคารพาณิชย์จะนำส่งให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)  ที่ 0.47% ของฐานเงินฝาก โดย 0.46% จะนำเข้าบัญชีเพื่อสะสมชำระหนี้ ในขณะที่อีก 0.01% ให้นำส่งเพื่อสะสมที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA)  โดยได้ผ่านขั้นตอนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญและออกมามีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมงวดแรกได้ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2555 แล้วนั้น

 

 

ในช่วงก่อนวันหยุดสงกรานต์ ได้มีปัจจัยที่ทำให้ตลาดดอกเบี้ยมีความคึกคัก (และปั่นป่วน) อย่างมาก และเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังที่ได้กล่าวข้างต้นคือ ในวันที่ 12 เม.ย. อัตราดอกเบี้ย swap 3 เดือน และ 6 เดือน ได้ปรับตัวลง   ในขณะนั้นหลายฝ่ายคาดว่า เป็นผลมาจากความกังวลเรื่องสถานะการคลังของรัฐบาลสเปน อันอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพอย่างรุนแรงต่อทุกตลาดทั่วโลก ดังเช่น วิกฤติหนี้สาธารณะและ Lehman crisis 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ในวันเปิดทำการวันแรกหลังสงกรานต์ (วันที่ 17 เม.ย.) ช่วงเช้าได้มีข่าวลือสะพัดในตลาดเงิน เรื่องแนวคิดที่จะเก็บภาษีบนฐานเงินฝากในสกุล USD (USD deposits ในประเทศไทย)  การตีความผลกระทบจากแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้ค่า swap point เริ่มปรับตัวลดลง (swap point 6 เดือน ลดลงจาก 34 เป็น 29 สตางค์/USD) ส่งผลให้ ดอกเบี้ย swap ปรับลงตาม  (2.97% เป็น 2.78%)  

 

 

Swap เป็นธุรกรรม/เครื่องมือจัดการกับข้อจำกัดของผู้กู้ในการเข้าถึง funding ในสกุลเงินที่ไม่ใช่สกุลเงินหลักของตน และเพื่อให้มีต้นทุนที่  competitive เมื่อเทียบกับ MPC rate (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ผู้กู้จะคำนึงถึงโดยการพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้  1) สกุลเงินใด คือสกุลที่ผู้กู้ต้องการ และ 2) สกุลเงินใดที่ผู้กู้สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และมีต้นทุนที่ competitive  โดยทั่วไป ธนาคารพาณิชย์ ตปท.สาขาประเทศไทย (สมมติว่าเป็น ML BKK) สามารถเข้าถึง funding ในสกุล USD ได้ง่ายกว่า การเข้ากู้ THB (หรือสกุลเงินท้องถิ่นอื่นๆ) โดยตรง  เพราะ ML BKK สามารถกู้ยืม USD funding จากธนาคารแม่ของตน (ML GLOBAL) ในประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือ สหรัฐ ซึ่งมี Credit rating ในระดับที่ดี และสามารถเงินกู้ USD ปริมาณมากได้ในต้นทุนที่ต่ำ (spread บน SIBOR ต่ำ)  ซึ่งทำให้ ML BKK ได้ต้นทุนที่ต่ำไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ML BKK ดำเนินกิจการในประเทศไทย เขาย่อมต้องการเงินทุนในสกุลเงินบาท หรือ THB Funding  ดังนั้นเพื่อให้ได้รับ funding ในสกุลเงิน THB นั้น ML BKK จึงต้องแปลง USD funding ที่ได้รับมาจาก ML Global ให้เป็น THB funding ผ่านกลไกตลาด Swap ด้วยการกู้ USD funding จาก ML Global แล้วเข้าทำธุรกรรม Forward กับ ธนาคารคู่สัญญาอื่นใดที่อยู่ในประเทศไทย

 

 

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (17 เม.ย.) มีข่าวลือเพิ่มเติมว่า รูปแบบของการจัดเก็บจะไม่ใช่ภาษี แต่จะเป็นค่าธรรมเนียมในลักษณะเดียวกับในกรณีของ FIDF บนฐานเงินฝากสกุลเงิน THB  และในวันที่ 18 เม.ย. ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น ที่สำคัญคือ มีการกล่าวว่า การเก็บค่าธรรมเนียม อาจพิจารณาจัดเก็บไม่เพียงแต่บน USD deposits แต่อาจรวมถึง ตราสารหนี้สกุลเงินบาทหลายประเภท ส่งผลต่อตลาด Swap ในทันที

 

 

ราคา Swap point อายุ 6 เดือน ในช่วงต้นเดือน เม.ย. (ก่อนข่าวลือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะแพร่สะพัดในตลาด) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 33-34 สตางค์/USD และ Swap point ที่ระดับ 33-34 สตางค์/USD นี้ สามารถ imply เป็นอัตราดอกเบี้ยในสกุลเงิน THB (ที่เรียกกันว่า “THBFIX” หรือ Swap นั่นเอง) ได้ที่ 2.97-2.98% ต่อปี  เ ถือเป็นต้นทุนการกู้ยืมที่ competitive เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00%  ตราบใดที่การกู้ Swap (กู้ THB ผ่าน Swap) ยังคงให้ต้นทุนที่ต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Trader ก็จะทำการกู้ผ่าน Swap   การกู้ยืมในลักษณะนี้เราเรียกว่า trader ทำการ “LONG SWAP”  (เทียบเท่าการ “Buy USD forward” เพื่อส่งคืนเงินที่กู้มาในสกุล USD) และ Trader รายใดที่ “Long swap” อยู่ เขาจะต้องการเห็น Swap point ปรับขึ้นไปเรื่อยๆ หาก swap point สูงขึ้นเป็น 40 สตางค์ นั่นหมายถึงว่า implied swap rate ได้กระโดดจาก 2.97% ไปเป็น 3.34% คิดง่ายๆ ว่า คนที่กู้ THB ได้ที่ 2.97% ย่อมดีกว่า ที่ 3.34% หรือ Position นั้นจะเป็น Mark-to-Market GAIN เมื่อ swap point สูงขึ้นนั่นเอง

 

 

ดังนั้นในช่วงเวลาปกติ จะสังเกตได้ว่า THBFIX ทั้ง 3 เดือน และ 6 เดือน จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า MPC rate แต่ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า ในบางช่วงเวลา THBFIX กลับอยู่ในระดับที่สูงกว่า MPC rate นั่นเป็นเพราะ Trader เริ่มมีการคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยนโยบายกำลังอยู่ในขาขึ้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่ต้นทุนการกู้ผ่าน Swap จะสูงกว่าดอกเบี้ย MPC ในขณะนั้น เช่น ในขณะที่ MPC rate อยู่ที่ 1.25% ในปี 2004  Trader จะทำการกู้ THBFIX 6 เดือน ที่ 1.5-1.6% เห็นว่า trader อาจยอม suffer ในช่วง 1-3 เดือนแรก เพราะตนกู้แพงกว่า MPC rate แต่ใน 3 เดือนข้างหน้าเมื่อ MPC rate ได้ปรับขึ้นเป็น 1.75%  position ของเขาจะเริ่ม Gain

 

 

แต่หลังจากมีข่าวลือเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังที่กล่าวข้างต้น Swap point ได้ปรับลงไปยัง 27-28 สตางค์/USD  และเมื่อพิจารณาผลของ Swap point ที่เปลี่ยนไปต่ออัตราดอกเบี้ย พบว่าอัตราดอกเบี้ย THBFIX ได้ปรับลดลงจาก 2.97% ไปยัง 2.78% …. สิ่งที่ trader ทำคือ Unwind position ที่ตนเป็นขา “LONG SWAP” อยู่ในทันที  อาจเป็นไปได้ว่า Trader คาดว่า แนวคิดในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบน USD borrowing จะทำให้ต้นทุนกู้ยืมในสกุล USD สูงขึ้น และทำให้การกู้ THB ผ่าน Swap จะไม่จูงใจเท่าเดิม จึง Unwind “LONG” position ด้วยการ “Sell USD forward” ทำให้ swap point ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว  และอย่าลืมว่า Mentality ของ Trader คือ trade ตาม news flow ด้วย  แต่ในอีก 2-3 วันถัดมา Swap point เริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย และเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในปลายเดือน เม.ย.

 

 

อีกประเด็นที่ขออนุญาตกล่าวถึงคือ ตลาด Swap ไม่ได้มี liquidity สูงมากดังที่คาดกัน ดังนั้นหากในช่วงเวลาที่มีความผันผวนมาก  การเข้ามา support ตลาดโดย ธปท. จะช่วยลดความผันผวนลงได้มาก  ผมขอย้ำอีกครั้งว่าข้อมูลประกอบการเขียนในครั้งนี้ เป็น market intelligence ที่รวบรวมได้จากตลาด และจนถึงวันนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดครับ